ทีทีบี มองเงินบาทแนวโน้มแข็งค่า แม้ปัจจัยพื้นฐานไม่เอื้อ สิ้นปี 68 อาจหลุด 33 บาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองว่า ความสัมพันธ์ที่สูงระหว่างค่าเงินบาทและทองคำ เป็นปัจจัยหลักในการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 68 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ จะส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะกับจีน แต่ภาพรวมค่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงแข็งค่าจากความไม่แน่นอนภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น พร้อมกับความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจำกัด

ttb analytics ระบุว่า ช่วงไตรมาสที่ 2/68 ปกติเป็นฤดูกาลที่ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่ เคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่า รวมถึงค่าเงินบาท โดยหากดูผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการปรับตัวอ่อนค่า 1.49% จากสิ้นไตรมาสก่อนหน้า โดยหนึ่งในเหตุผลที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว คือ การส่งกลับเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผล ตลอดจนเป็นช่วงที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงอื่นของปี (Low Season) ซึ่งกระทบต่อความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัดนอกจากนี้ หากดูปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยิ่งหนุนการอ่อนค่าของเงินบาท

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปัจจุบัน กลับไม่เป็นไปตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น โดยภาพรวมค่าเงินบาท ยังคงแข็งค่า 2.13% ในไตรมาสที่ 2 (ณ วันที่ 13 พ.ค. 68) และมีจังหวะแข็งค่ามากสุดในรอบ 7 เดือน แตะระดับ 32.565 บาท ขณะที่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทปรับแข็งค่า 2.64% (ณ วันที่ 13 พ.ค. 68)

โดย ttb analytics มองว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาท ตั้งแต่ช่วงต้นปี 68 ถึงปัจจุบัน มาจากจังหวะการแข็งค่าของค่าเงินบาท ส่วนใหญ่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำโลก ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความพิเศษของสินทรัพย์สหรัฐฯ (US Exceptionalism) ปรับลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมปรับอ่อนค่าต่ำกว่าระดับ 100 แม้ภาวะตลาดการเงินโลกจะปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรเอเชีย ตามคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ถือเป็นอีกหนี่งปัจจัยเพิ่มเติมในการแข็งค่าของเงินภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาท ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ 

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น และดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกับจีน ที่ 2 ประเทศมีการลดอัตราภาษีเป็นการชั่วคราว 90 วัน โดยสหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าจาก 145% เหลือ 30% ขณะที่ทางการจีนลดภาษีจาก 125% เหลือ 10% อย่างไรก็ตาม มุมมองทั้งปี 68 ttb analytics คาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า และมีแนวโน้มปิดปีต่ำกว่าระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles