นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าใน ปี 2567 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมการผลิตจะมีความต้องการซื้อพื้นที่รวมกันถึง 7,000 ไร่ คาดว่าในอีก 3 ปีจากนี้ไปจะมีโอกาสพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 10,000 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนทางตรงในประเทศไทย
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตัวเลขยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกนี้มีจำนวน 4,020 ไร่ โดยในไตรมาส 1 จำนวนมียอดขายพื้นที่ 2,295 ไร่ และในไตรมาส 2 มียอดขายพื้นที่จำนวน 1,725 ไร่ โดยเฉพาะยอดขายพื้นที่ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ได้สร้างสถิติยอดขายพื้นที่สูงสุดในรอบ 15 ปี ดังนั้น สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ผ่านมา ยอดขายพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำได้สูงเกินเป้าหมายของทั้งปี 2567 นี้ ที่กำหนดไว้จำนวน 4,000 ไร่
ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้การขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมคึกคักในช่วงครึ่งปีแรก มาจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีในไทย สะท้อนจากไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่ายอดซื้อพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมีรวมกว่า 80% เป็นของกลุ่มธุรกิจรถอีวีโดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศจีน รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ
การซื้อพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ยังพบว่า กลุ่มทุนอุตสาหกรรมให้ความสนใจที่จังหวัดระยอง กับ ชลบุรี อย่างไรก็ตาม จังหวัดระยองกลับได้รับความน่าสนใจในแง่ราคาซื้อพื้นที่มีราคาต่ำกว่าราคาพื้นที่ในจังหวัดชลบุรีถึง 30% ในเวลาเดียวกัน ที่ดินแปลงขนาดใหญ่ติดกันมากกว่าชลบุรี ที่มีความหนาแน่นของผู้ซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ราคาที่ดินในจังหวัดระยองซึ่งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมนั้น เดิมทีในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 มีขายราคา 200,000-300,000 บาท/ไร่ แต่ในปัจจุบัน พบว่ามีราคาเสนอขายเพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 บาท/ไร่ นอกจากนี้ อสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมมีราคาปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ของที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาใหม่จะมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนข้างต้นปรับขึ้น 3 เท่าตัว
นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท วีพี เรียลเอสเตท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรมในจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมในระยองที่มีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน เช่น บีวายดี ฉางอาน เป็นต้น ได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง โดยเฉพาะทำเลนิคมพัฒนาปลวกแดง จึงทำทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้น 2 เท่า ในขณะเดียวกัน
ทั้งนี้ ราคาที่ดินบริเวณพื้นที่นิคมพัฒนามีราคาเฉลี่ยที่กว่า 4 ล้านบาทต่อไร่ จากก่อนหน้านี้มีราคาเดิม 2 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งราคาแพง 2 เท่าภายในเวลา 2-3 ปีผ่านมา ที่สำคัญ ความต้องการที่ดินมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นพื้นที่เดียวที่ได้รับสนใจและต้องการมากที่สุดในจังหวัดระยอง ตรงกันข้ามกับพื้นที่มาบตาพุด ที่มีราคาที่ดินสูงเฉลี่ยไร่ละ 10 ล้านบาท จึงไม่คุ้มที่จะลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม