ธนาคารออมสินลั่นดอกเบี้ย MRR ของออมสินลงต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลง 0.25%

ธนาคารออมสิน ลั่น ดอกเบี้ย MRR ของออมสินลงต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลง 0.25%

ธนาคารออมสินประกาศลดดอกเบี้ย สำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่ม ดอกเบี้ย MRR ลดลง 0.25% ต่อปี รวมลดดอกเบี้ยประเภท MRR แล้วทั้งปี 2567 เท่ากับ 0.40% นับเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม2567เป็นต้นไป(ระยะเวลา 6 เดือน)

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ 26 เมษายน 2567 สมาคมสถาบันการเงินของรัฐออกแถลงการณ์เกี่ยวกับมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง มีข้อความดังนี้ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ขานรับนโยบายรัฐบาล ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบาย ช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในขณะนี้นั้น

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลด อัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารออมสินธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MAR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้

อนึ่ง สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารสมาชิกฯ ตระหนักถึงภาระต้นทุนทางการเงินของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้ โดยสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้น เพื่อบรรเทาภาระและช่วยเสริมสภาพคล่องในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles