นายมานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific) หรืออีเอพี 2025 ว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2025 ของแต่ละประเทศมีดังนี้ อันดับ 1. มองโกเลีย 6.3% อันดับ 2. เวียดนาม 5.8% อันดับ 3. ฟิลิปปินส์ 5.3% อันดับ 4.อินโดนีเซีย 4.7% อันดับ 5.จีน 4.0% อันดับ 6.กัมพูชา 4.0% อันดับ 7. มาเลเซีย 3.9% อันดับ 8.สปป.ลาว 3.5% และอันดับ 9. ไทย 1.6%
สำหรับประเทศไทยนั้น ผลจากการคาดการณ์ดังกล่าวของธนาคารโลกในครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคดังกล่าวที่เติบโตต่ำ 2% และขยายตัวต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยกเว้นเศรษฐกิจเมียนมาเป็นประเทศเดียวที่ชะลอตัวถึงขั้นติดลบ นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศไทยยังเป็นประเทศเดียวที่เติบโตต่ำกว่า 2% และขยายตัวต่ำสุดใน 7 ประเทศอาเซียน ที่สำคัญ เศรษฐกิจประเทศสปป.ลาวในปี 2025 นี้ ถูกประเมินว่าขยายตัวสูงกว่าประเทศไทยมากถึง 1.9% และยังถูกลดตัวเลขจีดีพีลงจากเดิมถึง -1.3% จากรายงานมุมมองภาวะเศรษฐกิจโลก 2025 เมื่อเดือนมกราคม 2025 ที่คาดว่าไทยจะขยายตัวที่ 2.9%
ขณะที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก หรืออีเอพีในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 4.0% จากเดิมที่อยู่ที่ 5.0% ในปี 2024 อย่างไรก็ตาม อัตราความยากจนในภูมิภาคนี้จะลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงปี 2024-2025 ประชากรจำนวนราว 24 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะหลุดพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งอ้างอิ่งจากเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจนของผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ในขณะที่ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกได้รับการคาดว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจปี 2025 ที่ 2.5%
รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซีฟิก กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค การลงทุนและการบริโภคมีข้อจำกัด นอกจากนี้ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้า รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการจากภายนอกประเทศยังคงลดลงต่อไป