นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่าธุรกิจสายมูเป็นอีก 1 ธุรกิจ ที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่ปี 2562-2566 ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธามีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเทียบในแต่ละปี ปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 15.4 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 11 ราย ทุน 7.59 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย ทุน 13.41 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย ทุน 27.45 ล้านบาท และ ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย ทุน 26.88 ล้านบาท ขณะที่ เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จัดตั้ง 12 ราย ทุน 7.51 ล้านบาท
สำหรับรายได้รวมของธุรกิจความเชื่อที่จดทะเบียน ปี 2562 อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท กำไร 1.12 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 28.76 ล้านบาท กำไร 1.52 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 61.28 ล้านบาท ขาดทุน 1.86 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 148.99 ล้านบาท ขาดทุน 1.7 แสนบาท
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) ธุรกิจความเชื่อมีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็กทั้งหมด แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย ส่วนการเสียภาษีนั้น รายได้ของหมอดูเข้าข่ายรายได้ตามมาตรา 40(2) และ 40(8)
ขณะที่กรณีที่ไม่ได้เปิดสำนักดูแบบเป็นกิจลักษณะ รับดูดวงเป็นครั้งๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางโซเชียล หรือนัดเจอตัวกัน จะเข้าข่าย 40( 2 ) เพราะว่าเป็นเงินได้ ที่มาจากการรับทำงานให้ ต้องยื่นเสียภาษี ภายในวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป ภายใต้แบบ ภ.ง.ด.90 แต่ถ้าเป็นแบบเปิดสำนักดูดวง ก็จะเข้าข่าย 40( 8 ) เพราะว่ามีการลงทุนหาเครื่องมือ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน ซึ่งถ้าเป็นไปตามลักษณะนี้ เวลายื่นเสียภาษีเงินได้ จะต้องยื่น 2 รอบ คือ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ซึ่งมีกำหนดยื่นวันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. ของทุกปีก่อน เพื่อเสียภาษีไว้ล่วงหน้า แล้วก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 อีกครั้ง ภายใต้วันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป
อย่างไรก็ตามหากทำรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เพราะบริการดูดวง เข้าข่ายของธุรกิจ “บริการ” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากมูลค่าบริการ โดยทุกครั้งที่ดูดวงก็ต้องออกใบกำกับภาษี พร้อมกับทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายใต้แบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป