ธุรกิจเล็กถึงใหญ่จากเมียนมาเชนร้านอาหารถึงร้านขายมือถือ ย้ายมาเปิดกิจการในไทย

ธุรกิจ เล็กถึงใหญ่จาก เมียนมา เชนร้านอาหารถึงร้านขายมือถือ ย้ายมาเปิดกิจการในไทย

สำนักข่าวนิกเคอิ ญี่ปุ่น รายงานว่า ประเทศไทยกลายเป็นโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจของเอกชนสัญชาติเมียนมาในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากเกิดการทำรัฐประหารของทหารเมียนมาขึ้นปกครองประเทศเมียนมาในช่วงเวลาร่วมกว่า 3 ปีผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจหลากหลายขนาดในเมียนมาได้เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยต่อเนื่อง

แหล่งข่าวหลากหลายที่มีความคุ้นเคยกับชุมชนธุรกิจเมียนมา เปิดเผยว่า มีการเปิดธุรกิจเป็นจำนวนมากกว่าหลายสิบรายในประเทศไทยในช่วง 3 เดือนผ่านมา เช่น เจ้าของกิจการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสัญชาติเมียนมารายหนึ่งที่ปฏิเสธจะระบุชื่อ กล่าวว่า ได้ย้ายธุรกิจดังกล่าวจากประเทศเมียนมามายังประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมามีแต่ความยากลำบาก และข้อจำกัดมากขึ้นกว่าเดิมในการทำธุรกิจ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และการกำกับดูแลด้านการเงินที่ไม่คงเส้นคงวา ในทางตรงข้ามกับประเทศไทย ที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพกว่ามาก รวมถึงตลาดของธุรกิจในสินค้า และบริการนี้ขยายตัวในไทย

เชอร์รี่ อู เจ้าของกิจการขายนาฬิกาที่ทำมาถึง 40 ปีในเมียนมา กล่าวว่า ได้เปิดร้านขายนาฬิกาแห่งแรกในกรุงเทพมาได้ 2 สัปดาห์ จากที่มีร้านสาขา 38 แห่งในประเทศเมียนมา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา ไทยจึงเป็นประเทศที่มีทางเลือกในการทำตลาดที่หลากหลาย โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจที่ต้องการโยกย้ายการทำธุรกิจ หรือขยายกิจการมายังตลาดใหม่

ร้านอาหารเมียนมาที่เป็นที่นิยมมากของชาวเมียนมา มีชื่อร้านว่า Khaing Khaing Kyaw ซึ่งขายอาหารดั้งเดิมเมียนมา ได้เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยแล้ว ผู้จัดการร้านอาหาร Khaing Khaing Kyaw มีชื่อว่า นาย Kyaw Shew กล่าวว่า การเปิดร้านอาหารรสชาติเมียนมาดั้งเดิมในไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชาวเมียนมาที่มีจำนวนมากขึ้นในไทย เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ จึงได้เพิ่มร้านอีก 1 แห่งในสถานที่ที่แตกต่างไปจากร้านแรกในกรุงเทพที่เปิดเมื่อพฤศจิกายนในปีผ่านมา ร้านอาหารแห่งนี้มีมากกว่า 10 สาขาในช่วงกว่า 20 ปีผ่านมาในประเทศเมียนมา ดังนั้น จึงมีแผนที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง ที่พัทยา และเชียงใหม่

ยูเอ็นดีพี (UNDP) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาว่า ข้อมูลถึงเดือนเมษายนปี 2023 มีประชาชนชาวเมียนมาราว 1.9 ล้านคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และคาดว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา คาดว่ามีประชาชนขาวเมียนมาราว 5 ล้านคน ทั้งที่มีเอกสาร และไม่มีเอกสารเดินทางเข้าประเทศไทย เดินทางมาอาศัยอยู่ในไทย

โยมา สตราเทจิค โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นกลุ่มยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารสัญชาติเมียนมา เจ้าของเครือข่ายร้านฟาสฟู้ดส์เคเอฟซีทั้งหมดในประเทศเมียนมา และจดทะเบียนบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์สิงค์โปร์ เปิดเผยว่า เตรียมบุกประเทศไทยด้วยการเปิดตลาดก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยในปีนี้ โดยเตรียมเปิดร้านมีชื่อว่า วายเคเคโอ (YKKO) ในกรุงเทพ สาเหตุจากในปัจจุบันมีประชาชนชาวเมียนมาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมากขึ้น ดังนั้น การเปิดธุรกิจอาหารโดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวต้นตำรับของชาวเมียนมา จึงเป็นการรองรับและตอบสนองต่อความต้องการของคนชาวเมียนมาที่มีจำนวนมากขึ้น และยังปรับปรุงรสชาติให้กับคนไทยที่สามารถรับประทานได้เช่นกัน

สำหรับกลุ่มบริษัทโยมา สตราเทจิค โฮลดิ้งส์ นั้น มีธุรกิจแกนหลักเป็นอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลทหารเมียนมายึดอำนาจและปกครองมาเป็นเวลาร่วมกว่า 3 ปี บริษัทดังกล่าวได้ถอยห่างออกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา ด้วยการพยายามขยายธุรกิจในเครือออกไปในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาภายในประเทศเมียนมา ด้วยการนำกลุ่มบริษัทไปจดทะเบียนและซื้อขายหุ้นบริษัทในตลาดหุ้นสิงคโปร์ นอกจากจากนี้ ในปี 2019 ยังเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 65% ของบริษัทวายเคเคโอ ซึ่งเป็นบริษัทในธุรกิจอาหารในเมียนมาด้วย เพื่อขยายมาสู่ธุรกิจอาหารเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนผ่านไป วายเคเคโอมีร้านอาหาร 37 สาขา

โยมา สตราเทจิค โฮลดิ้งส์ มีธุรกิจอาหารอยู่ดั้งเดิมนับตั้งแต่ปี 2015 ด้วยการเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านฟาสต์ฟู้ดเคเอฟซีในประเทศเมียนมา ปัจจุบันมีร้านเคเอฟซี 36 สาขาในเมียนมา ซึ่งกำลังจะมีสาขาใกล้เคียงกับร้านคู่แข่งจากเกาหลีใต้มีชื่อว่าล็อทเทอเรีย ที่มีกว่า 40 สาขา ด้านผลประกอบการในกลุ่มธุรกิจอาหารของโยมา สตราเทจิค โฮลดิ้งส์ พบว่า สิ้นสุดปีงบประมาณเมื่อ 31 มีนาคมผ่านมา มียอดขายเพิ่มสูงถึง 32% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา รายได้ในกลุ่มอาหารคิดเป็น 14% ของรายได้รวมทั้งกลุ่มบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นอันดับ 3 ตามหลังรายได้กลุ่มบริการการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสัดส่วน 24% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 50%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles