นักวิชาการการเงินชี้แบงก์พาณิชย์ในไทยกวาดกำไรปี 66 กว่า 2 แสนล้านเป็นประวัติศาสตร์

นักวิชาการการเงินชี้ แบงก์พาณิชย์ ในไทยกวาด กำไร ปี 66 กว่า 2 แสนล้านเป็นประวัติศาสตร์

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มสูง มีดังนี้

“กำไรธนาคาร” ไม่ได้สูง “ผิดปกติ” ในมุมการเงินทั่วๆ ไป เพราะถ้าเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไป (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุนหรือ ROE) หรือตัวชี้วัดในการทำกำไรอย่าง NIM มันก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ในสายตาประชาชนที่เดือดร้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงมาก เพราะนี่คือสิ่งที่ตัวเองเจอ หลายคนอาจโวยวายว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ

ปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน สมมุติเราตีความปัญหาว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ เกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท ยอมให้ธนาคารทั้งหลายคิดดอกเบี้ยแพง ดังนั้น ธปท ควรสั่งให้ธนาคารลดดอกเบี้ยซะ —> แต่ถ้าปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แก้แบบนี้แทนที่จะแก้ปัญหาอาจเพิ่มปัญหา เพราะถ้าแบงก์มองว่าลูกหนี้จำนวนมากเสี่ยงเกินกว่าที่เขาจะปล่อยสินเชื่อ ยิ่งให้ลดดอกเบี้ยเขายิ่งไม่ปล่อย ปล่อยแต่ลูกค้าชั้นดีดีกว่า

แล้วปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน ส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นส่วนผสมระหว่าง ต้นทุนสูงบางส่วนเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพ (เช่น ทุ่มเงินลงทุนในระบบ IT แต่ล่มแล้วล่มอีก) บวกกับ ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาดเวลากลั่นกรองสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 26 ปีที่แล้ว

ประเด็นความไร้ประสิทธิภาพ แก้ได้ด้วยการให้ ธปท กำกับอย่างจริงจังในทางที่จูงใจให้ลงทุนในประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น เลิกกฎแย่ๆ ที่สั่งปรับ 5 แสนบาทเมื่อระบบ e-banking ล่มถึง 8 ชั่วโมง (สิบนาทีก็มากแล้ว) ต้องเพิ่มบทลงโทษให้หนักเหมือนในต่างประเทศ, เพิ่มการกำหนดเกณฑ์ privacy + cybersecurity ที่ได้มาตรฐานสากล, บังคับให้ใช้ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ เป็น KPI ในการประเมินผลตอบแทนของผู้บริหารและกรรมการ เป็นต้น

ส่วนประเด็น ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาด แก้ได้ด้วยการให้ ธปท เปิดเสรีการแข่งขันที่เป็นธรรมจากคู่แข่งหน้าใหม่ที่ไม่มี “legacy” นี้ + พัฒนาโครงสร้างที่ช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้โดยเฉพาะ SME — เช่น ใบอนุญาต virtual bank ห้ามธนาคารเดิมสมัคร, ผลักดันกฎหมาย open data บังคับธนาคารใหญ่เปิดข้อมูล, แก้กฎกติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของฟินเทคหน้าใหม่ (เช่น ให้ บสย ค้ำประกันให้ฟินเทคได้), ปลดล็อกอำนาจผูกขาดในธุรกิจ credit scoring, promptpay และ national digital ID (หรือกำกับให้เป็นธรรมขึ้น), ทำทะเบียนหลักประกันออนไลน์, ฯลฯ

จริงๆ มีประเด็นอื่นอีกมากที่น่าทำ เช่น มาตรการจูงใจให้คนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเปิดบัญชีเงินออมระยะยาว คล้าย Individual Retirement Account ในอเมริกา — ไว้จะค่อยๆ ทยอยเขียนนะคะ

ทั้งนี้ ผลประกอบการกิจการธนาคารพาณิชย์ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 หรือระหว่างมกราคม-กันยายน ปี 2566 โดยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการออกมาโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับในปี 2565 พบว่า โดยธนาคารกสิกรไทยทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.34% ขณะที่ธนาคารกรุงเทพทำกำไรเพิ่มขึ้นมากมาย งวด 9 เดือนกำไร 32,773 ล้านบาท โตถึง 50.78% โดยนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัท หลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แรงหนุนจาก NIM ทำให้กำไรแบงก์ปี 2566 คาดจะอยู่ที่ 202,183 ล้านบาท เติบโต 18.5% จากปีก่อนหน้า ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจธนาคาร โดยแบงก์เคยทำกำไรสูงสุดช่วงปี 2557 ที่ระดับ 1.9 แสนล้านบาท (ประเมินจากหุ้นแบงก์ 8 แห่ง) นั้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles