นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น พิจารณารายชื่อของกระทรวงเศรษฐกิจ มีรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ กระทรวงพาณิชย์มีรัฐมนตรี 1 คน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อีก 3 คน, กระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3 คน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นนายพิชัย ชุณหวชิร ที่เคยผ่านงานบริษัทขนาดใหญ่ และบอร์ดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว น่าจะมีความเข้าใจการทำงานของภาคเอกชน รวมถึงการทำงานของรัฐวิสาหกิจด้วย ถือเป็นคนที่มีความสามารถ มีรัฐมนตรีช่วยที่เคยอยู่ในกระทรวงคลังอยู่แล้ว ทำให้จะขับเคลื่อน ดิจิทัลวอลเล็ต หรือทำงานประสานกับหน่วยงานสถาบันการเงินของรัฐ ขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้งบประมาณแผ่นดินผ่านกระทรวงการคลังเป็นหลัก น่าจะทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้นได้ ซึ่งเมื่อมีคนมากขึ้นก็ต้องทำงานได้ดีขึ้น
นายธนวรรธน์ คาดว่างบประมาณปี 2567 น่าจะสามารถใช้ได้แล้ว ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลมีรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและงบประมาณแผ่นดินมาแล้ว จะต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวมากขึ้น เพราะผลสำรวจของ ม.หอการค้าไทย ชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อที่เปราะบางและการฟื้นตัวไม่โดดเด่น
โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท มองว่าคงเป็นนโยบายสำคัญ หากผ่านไปได้ ไม่ขัดกฎหมาย สภาพคล่องมี แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. สามารถใช้ได้ และดึงงบประมาณปี 2567-2568 มาใช้ได้ ปัญหาคือ ผิดกฎหมายหรือไม่ การให้กฤษฎีกาตีความก็ควรเร่งตีความ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ สร้างความชัดเจนอย่างเร่งด่วน อาทิ การจะทำซูเปอร์แอพออกมาได้จริงหรือไม่ พิสูจน์ได้ว่าไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีจุดเปราะบาง หรือใช้แอพเป๋าตังแทน หากทุกคนคาดการณ์ได้ว่า ดิจิทัลวอลเล็ตมาแน่ มาจริงๆ ไม่ใช่ไม่มา แต่รู้สึกว่าจะมา เพราะจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนติดๆ ขัดๆ ความเชื่อมั่นจะไม่ฟื้นตัวแบบโดดเด่น
ทั้งนี้ นโยบายแรกที่ต้องทำคือ ควรมีความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และทำได้ทันที อันนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นเกิดขึ้นทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากจะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท เข้ามาในช่วงไตรมาส 4/2567 สนับสนุนให้จีดีพีเติบโตเกิน 3% ได้ ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้พูดถึงความคุ้มค่า แต่พูดถึงการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น
ขณะที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคมนี้ ควรเร่งให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมด เร่งรัดการเบิกจ่าย ประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะงบลงุทนที่ผ่านมาตลอด 1 ปี ไม่ได้ใช้เดือนละประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ทำให้ 1 ปีของการไม่ได้เคลื่อนงบประมาณแผ่นดิน ระบบเศรษฐกิจมีเม็ดเงินหดหายไป 4-5 แสนล้านบาทโดยไม่จำเป็น หากสามารถเร่งประมูลจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจัดซื้อจัดจ้าง จะเป็นการกระจายเม็ดเงินไปทั่วประเทศด้วย