นักเศรษฐศาสตร์ชี้ตั้งรัฐบาลใหม่เร็ว เศรษฐกิจเสียหายจำกัด เบิกจ่ายงบปี 68 – ลงทุนรัฐมีล่าช้า

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ตั้ง รัฐบาลใหม่ เร็ว เศรษฐกิจ เสียหายจำกัด เบิกจ่ายงบปี 68 - ลงทุนรัฐมีล่าช้า

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศักยภาพในการเติบโตของไทยนั้นมีขีดจำกัดอยู่แล้วจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยๆยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองกระทบต่อผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่รอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้นักลงทุนระยะยาวลังเลในการตัดสินใจลงทุนจากปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เกิดความไม่ต่อเนื่องของการบริหารและนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากนายกรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งโดยศาลรัฐธรรมนูญ สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ทันทีในรัฐสภาทำให้ผลกระทบระยะสั้นเบาลง

โดยมองถึงผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และภาคการลงทุน จะจำกัดลงได้ระดับหนึ่งในระยะสั้น ด้วยการตั้งรัฐบาลให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ความล่าช้าในการพิจารณางบประมาณปี 68 เกิดขึ้นแน่ การขยับโครงการลงทุนภาครัฐและนโยบายต่างๆของรัฐบาลต้องช้าออกไป ขณะเดียวกันก็อาจมีมาตรการและนโยบายบางส่วนถูกทบทวนหรือยกเลิกไป อย่างเช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลตและให้เช่าที่ดิน 99 ปี เป็นต้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามบริบทประชาธิปไตยแบบไทยไทยสร้างความเสี่ยงต่อการลงทุนระยะยาว ทำให้เกิดการชะลอตัวของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของต่างชาติ หรือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทชาติก็ตัดสินใจเลือกไปลงทุนประเทศอื่นแทนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่พร้อมของทุนมนุษย์ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากการที่ “สหรัฐอเมริกา” เป็น มหาอำนาจนำเพียงหนึ่งเดียว มาเป็น ระบบพหุขั้วอำนาจ มากขึ้น การแข่งขันเชิงอำนาจเพื่อครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอาเซียน ย่อมส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทยพอสมควร รัฐบาลใหม่ควรมีการจัดวางฐานะทางยุทธศาสตร์ต่อดุลอำนาจระหว่าง จีน กับ สหรัฐอเมริกา อย่างเหมาะสม การมี นโยบายต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ มุ่งสู่การสันติภาพทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศเป็น “ความจำเป็น” พื้นฐานในการสร้าง “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “สันติธรรมประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า การทะลายขีดจำกัดของประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองไปพร้อมกัน เดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งมิติการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและมิติการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไป การปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ใช่หลักประกันเพียงพอที่ทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะยาว สำหรับไทยแล้ว การขจัดการแทรกแซงทางการเมืองด้วยอำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนลงอย่างมาก ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคงและตอบสนองต่อผลประโยชน์ประชาชนมีความสำคัญ เสถียรภาพของระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นพื้นฐานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเกิน 3% นั้นเป็นไปไม่ได้แล้วในปีนี้ การเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบประมาณปี 2567 ให้เบิกจ่ายในระดับ 75% ขึ้นไปเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับรัฐบาลรักษาการ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ต้องใช้อีกอย่างน้อย 1-2 เดือน อาจทำให้งบประมาณปี 2568 ล่าช้าออกไปบ้างแต่จะดีกว่าสถานการณ์ของงบประมาณปี 2567 หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ที่มีความล่าช้าอย่างมาก คาดว่า ปัจจัยการลงทุนภาครัฐในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้มาก ส่วนการลงทุนเอกชนปีนี้จะขึ้นกับสถานการณ์การส่งออกและเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่น่าจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง แต่มีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับภาวะเงินฝืดมากกว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนกดอัตราเงินเฟ้อลงมา ความเสี่ยงทางการเมืองจะกดทับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนต่อไป ไม่มีเงินเฟ้อจากแรงดึงของอุปสงค์ ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นจากสงคราม ราคาสินค้าเกษตรและอาหารอาจปรับตัวสูงขึ้นบ้างจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นปัจจัยทางด้านอุปทานทั้งสิ้น วิกฤติหนี้สิน การปิดโรงงานและการเลิกจ้างในบางอุตสาหกรรมจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ปัญหาอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานไทยจำนวนมากได้เคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรกรรมมายังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมมีอายุเฉลี่ยสูงมาก แรงงานข้ามชาติจึงเป็นทางเลือกหลักการผลิตในภาคเกษตรกรรม ภาคประมง ภาคก่อสร้าง

นอกจากนี้ ไทยอาจเผชิญภาวะสมองไหล มีแรงงานทักษะสูงความรู้สูง นักวิชาชีพต่างๆ ออกไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น ถือเป็นการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีที่สวนทาง (The Reverse Transfer of Technology) แทนที่ประเทศไทยจะได้แรงงานทักษะสูง ความรู้สูง ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศพัฒนาแล้ว กลับกลายเป็นว่า แรงงานทักษะสูงของไทยอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศพัฒนาแล้วแทน ภาวะสมองไหล (Brain Drain) ของไทย นอกจากเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นผลจากความไม่พอใจต่อสภาพสังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมไทยในอีกด้วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles