นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ถ้าบอกว่าอยากให้เศรษฐกิจดี ต้องลดดอกเบี้ยนั้น เรื่องนี้จะไม่ใช่ปัจจัยที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้โดยใช้เครื่องมือนี้เพียงอย่างเดียว เพราะนโยบายทางการเงินมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ เสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องการเงินภาพใหญ่ที่ ธปท.ต้องให้ความสำคัญ
การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าจะมองว่าเป็นกองหน้า หรือฝั่งของกระทรวงการคลังจะเป็นกองหลัง ก็ต้องทำงานเป็นทีม ดังนั้น ทั้งนโยบายการเงินและการคลังก็ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ถูกต้องที่นโยบายการเงินเป็นกองหลังและเป็นผู้รักษาประตู
ขณะนี้โจทย์การแก้เศรษฐกิจนั้นจะให้น้ำหนักไปที่ใด ถ้าจะให้ทุกผู้เล่นเทน้ำหนักไปอยู่กองหลัง และดูแต่เสถียรภาพมันก็ไม่มีทางที่จะทำประตูได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์หนึ่งที่กำลังติเตียนกันว่ามันจะดีหรือไม่ ที่เทน้ำหนักให้ตรงนี้มากเกินไป ขณะเดียวกัน ทรัพยากรที่เป็นผู้เล่นกองหน้า หรือเรื่องงบประมาณปี 2567 ยังไม่มีการดำเนินการ รวมถึงหลายๆ อย่างที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และถ้ามองว่าจะยืมตัวผู้เล่นจากกองหลังมาเป็นกองกลาง หรือกองหน้าอย่างไร สุดท้ายก็อยู่ที่การเจรจาระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ ธปท. ไม่ได้ทำผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะหน้าที่คือรักษาเสถียรภาพ แต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่กองหน้าขาดผู้เล่น (งบประมาณ) มากกว่า ดังนั้น อาจต้องผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างอื่นที่ไม่ใช้งบประมาณมาช่วยสนับสนุนและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะนโยบายที่ใช้กับเศรษฐกิจไม่ได้มีเพียงนโยบายทางการเงิน เช่น การผลักดันเรื่องนโยบายอุตสาหกรรม เรื่องการค้าโดยเร่งเจรจาการค้าเสรี หรือภาคการท่องเที่ยวที่จะใช้นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทย เป็นต้น
“ปัญหาอาจเพราะผู้เล่น หรือเครื่องยนต์อื่นๆ ทำไม่ได้เลยเหลือความหวังกับฝั่งนโยบายการเงิน แต่หากพิจารณาประเทศอื่นๆ เขาไม่ได้หวังเรื่องการเงินอย่างเดียว เพราะถ้าใช้การเงินโดยการลดดอกเบี้ยก็เป็นความเสี่ยง แต่หากต้องทำจริงๆ ก็ทำได้ แต่จะมีผลข้างเคียงตามมา เช่น เงินเฟ้อขยับขึ้น เงินบาทอ่อนค่า