อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีประเทศไทยในปี 2567 ที่เติบโตที่ระดับ 2.5% ตามที่สภาพัฒน์ได้แถลงไปในช่วงเช้าที่ผ่านมา ปรากฏว่าเป็นการขยายตัวที่ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2566 แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่ารัฐบาลคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 2.7% และยังต่ำกว่าบรรดาผลสำรวจนักวิเคราะห์ที่มองว่าจะขยายตัวได้ดีกว่านี้นั้น นายอมรเทพ จาวะลา นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่ายอดขายจาก 2 ภาคธุรกิจสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ยอดขายรถยนต์ และยอดขายอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอลงมากในปีผ่านไป ท่ามกลางความต้องการบริโภคที่เบาบาง และกำลังซื้อของคนไทยอ่อนแอลงมาก
ด่านภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 89% ต่อจีดีพี ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยหดตัวลง มีผลต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศประเทศไทยจำเป็นจะต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่จะลดภาวะหนี้ครัวเรือนของคนไทย ในขณะเดียวกันจะต้องดูแลให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในเป้าหมาย เพื่อจะทำให้เกิดการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งในปี 2568 นี้ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 2.7%
นายเทอดศักดิ์ ทวีธีรธรรม นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัสเปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาขยายตัวก็จริงเมื่อเทียบกับปี 2566 แต่ในภาพรวมสะท้อนถึงความอ่อนแอโดยเฉพาะจีดีพีขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศอ่อนแอลงอย่างมาก
ด้านบรรยากาศลงทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเปิดซื้อขายในวันนี้จันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ในช่วงเปิดตลาดเมื่อเวลา 9.58 น. พบว่าดัชนีหุ้นไทย SET Index ดำดิ่งลงหนักลึกสุดระหว่างวันถึง -36 จุด ลงเคลื่อนไหวต่ำสุดระหว่างวันที่ระดับ 1,236 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่ทำสถิติใกล้เคียงในช่วงกว่าสี่ปีที่ผ่านมาหรือนับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19
สาเหตุจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเฉพาะการแถลงของสภาพัฒน์ในในช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายทั้งของรัฐบาลที่มองว่าจะเติบโตที่ 2.7% และบรรดานักวิเคราะห์ และนักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงปัจจัยของราคาหุ้นบริษัทเดลต้าในตลาดหุ้นไทย
สำหรับการแถลงข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่ผ่านไปในแง่รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ จะพบว่าในปีที่แล้ว ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยชะลอตัวอีก หรือ -0.5% นับเป็นการชะลอที่ต่อเนื่องถึงสองปีติดต่อกันเนื่องจากในปี 2566 เกิดภาวะตกต่ำติดลบถึง 2.7% ด้านการบริโภคหรือการลงทุนจากภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปีผ่านไป พบว่าภาคเอกชนชะลอการลงทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 หรือ 9 เดือนติดต่อกันเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ภาคการก่อสร้าง รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยล้วนตกอยู่ในสภาวะชะลอตัวอย่างหนักและต่อเนื่องในปีผ่านไป
ในขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือน ในปี 2567 ขยายตัว 4.4% แต่เป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าในปี 2566 ที่เติบโตถึง 6.9% อย่างไรก็ตามมีแต่เพียงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐในปีผ่านไปที่เติบโตขึ้น 2.5% ซึ่งดีกว่าการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในปี 2566 ที่ชะลอตัวลง 4.7%