นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) กล่าวในหัวข้อ “แผ่นดินไหวบวกกำแพงภาษี ประเทศไทยจะสะเทือนแค่ไหน และไปต่ออย่างไร” ว่า ประเทศไทยถือว่าโดนแผ่นดินไหวถึง 2 ครั้งติดๆ กัน โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 มองว่าไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงต่อประเทศ เพราะความเสียหายมีจำกัด โดยผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น อย่างภาคการท่องเที่ยวน่าจะเห็นผลกระทบในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เห็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้คนหวั่นไหวไม่อยากใช้เงิน ซึ่งมีครัวเรือนบางส่วนต้องนำเงินมาใช้ซ่อมแซมต่อเติมบ้าน หรือคอนโดฯ ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งก็อาจกระทบทำให้การใช้จ่ายบริโภคลดลงไปด้วย
สำหรับภาคเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบทางลบ คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการคอนโดฯ ธนาคาร ประกันภัย และท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ก็มีภาคเศรษฐกิจที่มีอุปสงค์มากขึ้น เช่น ภาคค้าปลีก, Home improvement, ภาคพลังงาน โดยเฉพาะโรงกลั่น ค้าปลีกน้ำมัน และวัสดุก่อสร้าง
ทั้งนี้ หากเปรียบแล้ว แผ่นดินไหวครั้งใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นกับไทยรวมถึงทั่วโลก คือ The Liberation day หรือจุดเริ่มต้นของสงครามการค้า ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% และสูงกว่านั้นสำหรับบางประเทศ ซึ่งประเทศไทยถูกเก็บภาษีถึง 37% ทำให้อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เฉลี่ยอาจจะสูงสุดในรอบ 100 ปี โดยสิ่งที่ทรัมป์ต้องการจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ คือ “Kind reciprocal” หรือต้องการให้มีการผลิตสินค้าในสหรัฐฯ, ประเทศอื่นๆ ต้องลดภาษีนำเข้าตอบแทน, ลดมาตรการกีดกันการค้า, ไม่แทรกแซงค่าเงิน และต้องซื้อสินค้าสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ, ราคาสินค้าในสหรัฐฯ แพงขึ้น และการค้าโลกมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น
“สิ่งที่ทำให้ตลาดตกใจ คือทรัมป์เคยพูดว่าจะเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งไทยมีภาษีเฉลี่ยที่เก็บกับสหรัฐฯ 11% ดังนั้น คาดว่าไทยอาจโดน 10-15% แต่สุดท้ายไทยกลับโดนถึง 37% โดยทรัมป์คำนวณภาษีนำเข้า จากการนำดุลการค้าไปหารกับนำเข้า และคูณ 0.5 จึงได้ตัวเลขการเก็บภาษีประเทศต่างๆ ออกมา”
อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกระทบที่เกิดจากการขึ้นอัตราภาษีมีสูงมาก อาจเห็นภาวะเศรษฐกิจโลก และสหรัฐฯ ชะลอตัว และสหรัฐฯ เงินเฟ้อพุ่ง จึงมองว่าอัตราภาษีในระดับนี้น่าจะไม่ยั่งยืนไปตลอดทั้งปี ส่วนผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย ในกรณีฐานที่ภาษีอยู่ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี จะกระทบเศรษฐกิจไทยลดลง 1.1% ต่อ GDP โดยหลักๆ มาจากการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบในเอเชียเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% โดยไทยได้รับผลกระทบมาก เพราะสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP สูง จากการที่ประเมินว่า GDP ไทยปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2.3% ก็จะลดลงไปได้อีก
นายพิพัฒน์ เสนอทางเลือกของประเทศไทย 3 ทางเลือก คือ
1. สู้ (retaliate) แต่มองว่าอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
2. หมอบ (negotiate) (ใช้กลุ่มอาเซียนเพิ่มอำนาจในการต่อรอง) มองว่าเป็นทางเลือกที่ไทยควรทำ ดังนี้
2.1 ลดภาษีศุลกากร: เนื้อสัตว์ อาหาร เกษตรกรรม และเปิดตลาดที่อาจมีความอ่อนไหว
เกษตรกรรม: เนื้อหมู ไก่ อาหารสัตว์อุปสรรคด้านบริการ
บริการ: audiovisual services, พ.ร.บ.ธุรกิจการแพร่ภาพ และพ.ร.บ.บริการโทรคมนาคม, บริการทางการเงิน (รวมถึงการชำระเงิน ประกันภัย และใบอนุญาต Virtual Bank)
ลดอุปสรรคด้านการลงทุน: กฎหมายให้ธุรกิจคนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจ
2.2 ซื้อสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น พลังงาน (น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว), ถั่วเหลือง, ข้าวโพด หรือเครื่องบิน เครื่องจักร อาวุธ
2.3 ปราบปรามการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ (Rerouting)
2.4 ทำตามที่สหรัฐฯ ร้องขอ อาทิ การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา, การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
2.5 ข้อเสนอทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์
3. ทน (tolerate, stimulate) ลองเปรียบเทียบภาคส่งออกกับภาคในประเทศ ซึ่งถ้าไทยเลือกทางนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทั้งหมด