น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปอย่างไรให้มีพลัง” ในงานเสวนา Dailynews Talk 2024 “Soft Power: โอกาสประเทศไทย” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยระบุว่า ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี การจะยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูง คงไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยปัจจัยเรื่องความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพของการศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ “ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้พุ่งทะยานภายในทศวรรษหน้า และจะเป็นนโยบายที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้หลาย 10 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยร่ำรวยด้วยทุนวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ ขายได้ พัฒนาได้ ทำให้ชาวต่างชาติหลงใหลได้ไม่ยาก และเชื่อมั่นว่า คนไทยเก่ง มีศักยภาพ มีทักษะสร้างสรรค์ที่รอโอกาสในการพัฒนา
หัวใจสำคัญของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ คือ การพัฒนาแรงงานทักษะต่ำ ให้เป็นแรงงานทักษะสูง แล้วเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการจากทักษะสูง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดด้วยนวัตกรรม สร้างแบรนด์ดิ้งที่มีเรื่องเล่าให้คนทั่วโลกได้เข้าใจและเห็นคุณค่า การต่อยอดเพิ่มเติมทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว (Up-skill) และการฝึกอบรมสร้างทักษะใหม่ (Re-skill) เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานราชการ นักวิชาการ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน แรงงาน ก็พูดคำนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมา มักทำกันแยกส่วน ยังไม่มีการบูรณาการกันเป็นระบบอย่างจริงจัง โดยการทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครั้งนี้ ภายใต้โครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ OFOS – One Family One Soft Power เราจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันขับเคลื่อน ออกแบบหลักสูตรการอบรมที่ใช้ประกอบอาชีพได้จริง ทั้งการอบรมในสถานที่ออนไซต์ และการอบรมออนไลน์ ทุกคนเรียนได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ทำให้การยกระดับศักยภาพระดับทักษะจากขั้นต่ำ ไปสู่ขั้นกลาง และขั้นสูงอย่างไม่มีข้อจำกัด และให้เข้าถึงง่ายที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป้าหมายของเรา คือ ทำให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทุกสาขาได้ ยกระดับสินค้าและบริการจากวัฒนธรรมไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น มีเสน่ห์มากขึ้น ไม่ต้องกังวลในการแข่งขันเรื่องราคากับผู้ผลิตสินค้าที่มีข้อได้เปรียบในการผลิตจำนวนมาก หรือ Economy of scale เช่น ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีไทย ที่เติบโตจากหลักหมื่นล้านบาทเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นกว่า 500,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน และยังสามารถเติบโตได้อีกหลายเท่า แต่ขาดแคลนช่างอัญมณีจำนวนมาก เพราะไม่มีการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ ขาดแรงงานทักษะสูงจนต้องแย่งตัวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากในการเสียโอกาส เพราะขาดแรงงานที่มีศักยภาพตรงนี้มาก
และ จากที่ได้ไปประชุม ACD รวมถึง ASEAN ที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสนใจใน วัฒนธรรมของไทยมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทย ซึ่งแต่ละชาติก็มีความสนใจแตกต่างกันไป โดยสำหรับวงการอาหาร เราต้องเปลี่ยนประเทศไทย จากเกษตรกรรมที่ส่งออกพืชผล สู่อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ นอกจากจะผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ให้มีร้านอาหารไทยที่มีรสชาติแท้ และใส่ความคิดสร้างสรรค์ในทุกจานไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีถนอมอาหารที่เก็บได้นาน 2 ปี เติมนวัตกรรมอาหารด้วย Food Lab ที่ช่วยรักษารสชาติ และกลิ่นของอาหาร
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาส ในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness) เพราะเทรนด์ทั้งโลกหันมาสนใจ การอยู่ดีมีสุข สุขภาพกายและใจที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ธุรกิจนี้กำลังเติบโตมากทั้งโลก และรวมถึงไทย ซึ่งประเทศไทยมีครบวงจร เรื่องอาหารสุขภาพ สมุนไพรไทย มีภูมิปัญญาซึ่งเป็นมรดกโลก เช่น การนวดแผนไทย มีมวยไทย สำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและยังโด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงความแข็งแกร่งทางการแพทย์ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในอุตสาหกรรม Wellness ซึ่งต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไป
ขณะที่ การท่องเที่ยวด้วย Human made tourism ซึ่งเราจะยกระดับเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาสงกรานต์ ลอยกระทง หรือระดับท้องถิ่น เช่น ผีตาโขน แห่เทียนพรรษา และบุญบั้งไฟ เสริมภาพลักษณ์ Festival country ประเทศที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปี มีเทศกาลใหม่ให้มาเที่ยวได้เสมอ ซึ่งจะสร้างเศรษฐกิจเทศกาล ให้หมุนเวียนอย่างมากมายในทุกท้องถิ่น รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่สำหรับการจัดเทศกาลดนตรีระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ คือโอกาสของประเทศไทยในกรอบของคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่รัฐบาลจะยกระดับชีวิตของประชาชนตามเป้าหมาย