นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี อายุ 74 ปี เปิดเผยว่า ได้ประกาศสนับสนุนเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศอินเดียโดยการกำหนดเป้าหมายเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็น 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 17 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 หรือภายในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นหมายถึงการเติบโตของมูลค่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงถึงกว่า 122% จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5.27 ล้านล้านบาท
รัฐบาลอินเดียมีนโยบายและกลยุทธ์สำคัญในการที่จะดึงดูดให้บริษัทหรือภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตไมโครชิป และเซมิคอนดักเตอร์จากต่างต่างประเทศเข้ามาลงทุนทางตรง หรือเอฟดีไอในประเทศอินเดีย หลังจากที่แอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น ได้ลงทุนโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนแห่งแรกในเอเชียใต้ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 476,000 ล้านบาท
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบันรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโมดี ได้มีการอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์รวมเป็นมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 510,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการของภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ภายในประเทศอินเดียได้แก่กลุ่มบริษัททาทา กรุ๊ป เตรียมเงินลงทุนสร้างโรงงานผลิตไมโครชิปแห่งแรกของประเทศอินเดีย รวมถึงไมครอนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไมโครชิปสัญชาติอเมริกันชื่อดังระดับโลกได้อนุมัติลงทุนสร้างโรงงานผลิตและประกอบไมโครชิปในประเทศอินเดียด้วยมูลค่า 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 93,500 ล้านบาท ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะก่อสร้างขึ้นในรัฐคุชราฏซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีโมดี
นอกจากนี้ ทาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศอิสราเอลกำลังมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจในประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นการร่วมลงทุนกับมหาเศรษฐีชื่อดังของอินเดีย นายกัวทาม อาดานี กลุ่มบริษัทอาดานี กรุ๊ป ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 340,000 ล้านบาท โรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศอิน
ทั้งนี้กลุ่มทุนต่างชาติที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากทวีปยุโรปได้แสดงความสนใจอย่างมากที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศอินเดีย เช่น นายเคิร์ท ซีเวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ เอ็นเอ็กซ์พี เซมิคอนดักเตอร์ เอ็นวี (NXP) ซึ่งเป็น บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์เตรียมเม็ดเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 34,000 ล้านบาท ที่จะเข้ามาลงทุนทางตรงในประเทศอินเดียในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อที่จะขยายงานวิจัยและพัฒนาให้ครอบคลุมในภูมิภาคนี้