ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ดัชนีสมุทรศาสตร์ ได้แก่ ดัชนี ONI ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี และดัชนี PDO และ IOD ที่สะท้อนถึงแนวโน้มพายุในภูมิภาคที่มีผลอย่างมากต่อปริมาณฝนในไทย นอกจากนี้ ปัจจัยของอิทธิพลจากพายุประจำปี ทั้งพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง และเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่สามารถส่งผลทางอ้อมต่อประเทศไทยนั้น ทั้งหมดทำให้คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ปริมาณน้ำฝนในไทยจะมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 15-16% ที่สำคัญ คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างเต็มตัวในเดือนตุลาคม 2567 ทำให้ในเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอุทกภัยในทุกภูมิภาค
วิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า ได้จำลองสถานการณ์ไว้ ดังนี้ เริ่มจากกรณีฐาน คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 46,500 ล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของจีดีพีไทย กรณีเสียหายมากที่สุด คาดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 59,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.34% ขอองจีดีพี
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ BAY กล่าวว่า แม้ว่าความเสี่ยงอุทกภัยในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 เนื่องจากในปี 2567 นี้มีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า มีพื้นที่รองรับน้ำมากกว่า รวมถึงความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้น