บริษัทเครดิตจีน ลดอันดับความน่าเชื่อถือไทย เหตุอาชญากรรมข้ามชาติ กระทบภาพลักษณ์ นักท่องเที่ยวยังกังวลความปลอดภัย

บริษัท เครดิต จีน ลดอันดับความน่าเชื่อถือไทย เหตุ อาชญากรรม ข้ามชาติ กระทบภาพลักษณ์ นัก ท่องเที่ยว ยังกังวลความปลอดภัย

เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ สื่อฮ่องกงรายงานว่า ไชน่า เฉิงซิน อินเตอร์เนชันแนล เครดิต เรตติ้ง บริษัทซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ได้ประกาศเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 68 ว่าได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก A- เป็น BBB+ เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นหลายครั้ง การปรับลดดังกล่าว ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ “ปกติ” แทนที่จะเป็น “ต่ำ” ส่วนสถานะทางเศรษฐกิจและการเงิน ก็ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ “พอใช้” แทนที่จะเป็น “แข็งแกร่ง”

บริษัทให้เหตุผลว่าปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ได้เปิดโปงให้เห็นถึงข้อบกพร่องในระยะยาวของรัฐบาลไทยในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรม และหากวิกฤตด้านความปลอดภัยยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลเสียต่อแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

แม้จีนจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยเมื่อปีที่แล้ว มีชาวจีนเดินทางมาเยือนมากถึง 6.7 ล้านคน แต่เหตุการณ์การลักพาตัวหวัง ซิง นักแสดงชายชาวจีน โดยขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวจีน หลังจากข่าวถูกเผยแพร่ออกไปบนโซเชียลมีเดียก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน

โดย ข้อมูลจากบริษัทด้านการตลาดการท่องเที่ยวและเทคโนโลยี ไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ (China Trading Desk) ระบุว่า การจองวันหยุดในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงสัปดาห์ที่ 13 – 20 มกราคม ลดลงถึง 15.6% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าว ยังก่อให้เกิดความกังวลสำหรับนักลงทุนชาวจีนบางราย ที่กำลังพิจารณาขยายธุรกิจไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ขณะเดียวกัน ไชน่า เฉิงซิน ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่าการปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศไทยนี้ ยังมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับแรงกดดันเชิงโครงสร้างที่ผู้ส่งออกและภาคการผลิตของประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเรียกเก็บภาษีจากประเทศอื่นๆ ที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ 45,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท)

ปีที่แล้ว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index) ของไทย ซึ่งเป็นมาตรวัดผลผลิตทางอุตสาหกรรม หดตัวลง 1.79% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงในภาคยานยนต์

ไชน่า เฉิงซิน บอกว่า เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2568 นี้ เนื่องจากสหรัฐฯ วางแผนที่จะกำหนดภาษีในอัตราที่สูงกับการส่งออกของไทย หากมีการบังคับใช้จริงและมีแนวโน้มในระยะยาวอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการส่งออกของไทย และขัดขวางการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังขัดขวางความต่อเนื่องของนโยบายด้วย

อย่างไรก็ดี นายซง เสงวุน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของบริษัททางการเงินในสิงคโปร์บอกว่า การปรับอันดับดังกล่าวของบริษัทไชน่า เฉิงซินยังคงบ่งชี้ว่าประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles