นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ รฟท. ได้มีมติเห็นชอบรวมโครงการระบบรถไฟชานเมือง ( สายสีแดงอ่อน ) ช่วงตลิ่งชัน–ศาลายาและสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย–การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) และโครงการสายสีแดงอ่อน ช่วง ช่วงตลิ่งชัน–ศิริราช เข้าด้วยกันเป็นโครงการเดียว ช่วง ศิริราช–ตลิ่งชัน–ศาลายา และเปิดประกวดราคาสัญญาเดียว ตามที่รฟท.เสนอ เนื่องจากเห็นว่า 2 โครงการ มีผลดีต่อการส่งมอบพื้นที่และการก่อสร้างในจุดทับซ้อนกันที่สถานีตลิ่งชัน ซึ่งอาจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง และงานระบบต่าง ๆ รวมถึงให้ดำเนินงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมกัน
สำหรับ โครงการ รถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน–ศาลายา ระยะทางรวม 14.8 กิโลเมตร (กม.) มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย–กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา ส่วนสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน–ศิริราช ระยะทางรวม 5.7 กม. มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี–ศิริราช
โดยการรวม 2 เส้นทางเป็นโครงการเดียว ทำให้มูลค่าโครงการรวมเดิม 15,286.27 ล้านบาท เหลือ 15,176.21 ล้านบาท หรือกรอบวงเงินโครงการลดลง 110.06 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 14.78 ล้านบาท 2. ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) วงเงิน 392.13 ล้านบาท (ลดลง 2.75 ล้านบาท) 3.ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) วงเงิน 39.55 ล้านบาท (ลดลง 7.35 ล้านบาท) 4. ค่างานโยธาและระบบราง วงเงิน 10,774.72 ล้านบาท (ลดลง 99.96 ล้านบาท) 5.ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 3,955.03 ล้านบาท ส่วนตู้รถไฟฟ้าจะอยู่ในงาน PPP สายสีแดง เมื่อเป็นสัญญาเดียว ผู้รับจ้างรายเดียว ทำให้ลดงานที่ซ้ำซ้อนลง รวมถึงลดค่าจ้างที่ปรึกษาก็ลดลงไปด้วย
หลังจากนี้เสนอ กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติ เดือน ส.ค. 2567 จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา 3 ส่วน คือ ประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ประกวดราคาที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) และประกวดราคาที่ปรึกษาอิสระ (ICE) ดำเนินการช่วงระหว่าง เดือนก.ย. 2567 ถึง เดือนเม.ย. 2568 (8 เดือน) เริ่มก่อสร้าง เดือนพ.ค. 2568 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการ เดือนพ.ค. 2571