บอร์ด รฟท. เคาะเวนคืนที่ดินสร้างไฮสปีดเทรนไทย-จีน เฟส 2 เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค  ชงคมนาคม ภายใน 2 สัปดาห์นี้ คาดเปิดประมูลในปีนี้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) วานนี้ (15 พ.ค.) เห็นชอบนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ฯ ต่อรมว.กระทรวงคมนาคม ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากครม.มีมติ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 68 อนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ซึ่งมีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินนอกพื้นที่รฟท.สำหรับก่อสร้าง ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 10% ของทั้งโครงการ ประกอบด้วยที่ดิน จำนวน 1,991 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,345 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 1,428 รายการ กรอบวงเงิน 12,418.61 ล้านบาท ซึ่งรฟท.เสนองบดำเนินการ 3 ปี โดย ปี 2569 ประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งปี 2570 และปี 2571 ปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท

ส่วนความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา (TOR) และแบ่งสัญญาประมูลให้เหมาะสม คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปีนี้ โดยโครงการฯ ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นหลังสถานีนครราชสีมา และจุดสิ้นสุดที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) รวมทั้งหมด 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย รวมถึงยังมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Deport) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา รวมถึงย่านเก็บตู้สินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่งที่นาทา รวมระยะทางประมาณ 357.22 กิโลเมตร ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายใหม่ One Belt One Road (OBOR) โดยจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและขนส่งระหว่าง 3 ประเทศ ไทย-ลาว-จีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมทั้งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เข้าถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

บอร์ด รฟท. ยังมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา) สัญญาที่ 3 – 2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ออกไปอีก 181 วัน จากเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 มิ.ย. 68 โดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาใหม่เป็นวันที่ 5 ธ.ค. 68 

สำหรับสาเหตุที่ต้องขยายเวลาในครั้งนี้ เนื่องจาก รฟท. ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างก่อสร้างล่าช้า จากการเวนคืนพื้นที่ ทำให้กระทบงานก่อสร้าง 2 รายการ คือ งานก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดิน ช่วง DK.134+765 DK.135+385 และงานก่อสร้างสะพานผาเสด็จ 3 ปัจจุบัน รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนทั้งหมดให้กับผู้รับจ้าง 100% แล้ว พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ปรับใหม่ เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

สำหรับสัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับอุโมงค์ ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง มูลค่า 4,279,309,390 ล้านบาท ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร ครอบคลุมงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟ คันทางรถไฟระดับดิน  โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ รวมถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รองรับงานระบบรถไฟฟ้า 4 แห่ง พร้อมถนนเชื่อมต่อ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 64 ปัจจุบันมีความคืบหน้า 90.94%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles