บิ๊กเอกชนธุรกิจสวนน้ำสยามอะเมซิ่งพาร์คพูดชัด ปี 68 บริษัทขนาดใหญ่ในไทยอาจปิดตัวราว 50 ราย

90
0
Share:
บิ๊กเอกชน ธุรกิจ สวนน้ำสยามอะเมซิ่งพาร์คพูดชัด ปี 68 บริษัท ขนาดใหญ่ในไทยอาจ ปิด ตัวราว 50 ราย

นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานที่ปรึกษา กลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ประกอบด้วยสวนน้ำสวนสนุก ‘สยามอะเมซิ่งพาร์ค’ และบางกอกเวิลด์ กล่าวว่า ปัจจัยมากมายที่กดดันสถานการณ์โดยรวมภาคธุรกิจ ซึ่งสะสมมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 กำลังซื้อประชาชนไม่ดีอย่างที่ควร เกิดการระมัดระวังการใช้จ่าย ภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาคธุรกิจและประชาชนสูง ภาระหนี้สินจำนวนมาก ในแง่การเมือง คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยเกินไป และมักเปลี่ยนนโยบาย จึงมีผลต่อการทำธุรกิจเอกชนที่ได้เตรียมให้สอดรับอย่างภาครัฐ

ยกตัวอย่าง บางกอกเวิลด์ ของกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ได้ตั้งใจเป็นจุดรองรับการผลิตและจำหน่ายสินค้าโอท็อป ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้ามาแหล่งค้าขายประจำและเพิ่มรายได้ แต่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลง โอท็อปวันนี้ก็ไม่ได้พูดถึง ยังดีมีซอฟต์พาวเวอร์ ก็ต้องใช้เวลา ปีนี้ถ้าไม่ดีขึ้น ปีหน้าจะหนัก ทำให้ผมมองว่าปีหน้ามีโอกาสบริษัทใหญ่ปิดตัวหรือเปลี่ยนมือ ไม่แค่ในไทย ต่างประเทศก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน คาดในปี 2568 จะมีบริษัทขนาดใหญ่แบกรับภาระไม่ไหวและปิดตัวประมาณ 50 ราย ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ถือเป็นเรื่องน่ากังวล

มุมมองและการยืนยันแนวโน้มการปิดตัวของธุรกิจในประเทศไทยจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนผ่านมา ที่สำนักวิจัย KKP Research เปิดเผยต่อสัญญาณไปว่า สัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2021 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2022 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

สำนักวิจัย KKP Research เปิดเผยต่อไปว่า ไม่ใช่แค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน การปิดตัวของโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก เพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน จึงทำให้ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน หรือกว่า -66%

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนผ่านมา นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า เกี่ยวกับยอดปิดโรงงานในประเทศไทยนั้น ควรมองให้ครบรอบด้าน ทั้งการเปิดและปิดกิจการ ช่วงที่ผ่านมาก็สะท้อนการเปิดมากกว่าปิดโรงงาน ซึ่งเป็นกลไกเศรษฐกิจ การย้ายโรงงานก็อาจจะเพื่อไปหาที่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเทิร์นโอเวอร์มีขึ้น อย่างไรก็ดี มองว่าตอนนี้ยังไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาในภาพใหญ่ของการปิดโรงงาน

หากดูตัวเลขปิดกิจการ พบว่าลดลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา อัตราการเปิดธุรกิจสูงกว่า หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน การเปิดกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 8% และยังมีจำนวนพนักงานจ้างใหม่มากกว่าพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เม็ดเงินการลงทุนยังคงเป็นบวกอยู่