บีวายดี-ฮุนได เปย์หนักซื้อตัวพนักงานค่ายรถญี่ปุ่น รับที่เดิมเท่าไร จ่ายสูงกว่า 3 เท่าในอินโดนีเซีย

บีวายดี - ฮุนได เปย์หนักซื้อตัวพนักงานค่ายรถญี่ปุ่น รับที่เดิมเท่าไร จ่ายสูงกว่า 3 เท่าในอินโดนีเซีย

สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซียไม่เพียงต้องเผชิญกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ในแง่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเข้าไปบุกเบิกตั้งอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซียมาได้ตั้งแต่ปีทศวรรษ 1970 ถึงปัจจุบัน ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการรักษาพนักงาน หรือบุคลากรที่มีความชำนาญให้อยู่กับบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นทั้งบีวายดี (BYD) จากจีนและฮุนได (Hyundai) จากเกาหลีใต้ ใช้นโยบายดึงดูดพนักงานที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นในประเทศอินโดนีเซีย

ขณะนี้ บีวายดีในประเทศอินโดนีเซีย ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มองหา ไล่ล่า และซื้อตัวพนักงานจากบริษัทผลิตรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น เนื่องจาก บีวายดีได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 34,000 ล้านบาทในการสร้างโรงงานผลิตผลิตรถยนต์บีวายดีทางภาคตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการผลิตถึงปีละ 150,000 คัน

ค่ายผลิตรถยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นเช่นโตโยต้าและยี่ห้ออื่นๆได้เข้ามาเปิดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียมาไม่ต่ำกว่า 5 ทศวรรษ จนกระทั่งมีส่วนแบ่งตลาดสะสมเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 90% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ลงทุนและผลิตบุคลากรไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับบริหารหรือพนักงานที่อยู่ในโรงงานการผลิตซึ่งมีความเชี่ยวชาญและความชำนาญว่าอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ากับอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย

ย้อนกลับไปในปี 2022 ฮุนได มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮุนไดในประเทศอินโดนีเซีย โดยการใช้นโยบายและกลยุทธ์ในการค้นหาและดึงดูดพนักงานทั้งระดับบริหารและพนักงานในสายการผลิตของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นให้มาร่วมทำงานด้วย เพื่อเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ฮุนไดให้ได้ปีละ 150,000 คันจากประเทศอินโดนีเซีย พนักงานระดับบริหารจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามีการจ่ายแพ็คเกจผลตอบแทนให้กับพนักงานบริหารที่มาจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น สูงถึง 3 เท่า จากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับในที่เดิม ในปี 2023 ที่ผ่านมา ฮุนได มอเตอร์ มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซียอยู่ที่ 3% จากทั้งหมดซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีในประเทศอินโดนีเซีย

ดีลอยท์ โทมัสสึ ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยผลสำรวจ ในปี 2023 ที่ผ่านมาพบว่า ภาวะการขาดแคลนพนักงานทั้งระดับบริหารและพนักงานในสายพันธุ์การผลิตจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวนั้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 35% จากเดิมในปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ราว 10% ที่น่าสนใจ พบว่าความสำเร็จของบริษัทผลิตรถยนต์แบรนด์อื่นที่สามารถจูงใจให้พนักงานออกไปร่วมทำงานด้วยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่ชื่นชอบกับการทำงานบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นลดน้อยลงในปัจจุบัน

เพอร์ซอล รีเสิรช์ แอนด์ คอนซัลติ้ง เปิดเผยว่า ในหลายประเทศซึ่งอยู่ในกลุ่มอาเซียนนั้น ปรากฏว่า สัดส่วนของพนักงานที่มีความปรารถนาอยากจะทำงานกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นนั้น ลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2019 สาเหตุจากนโยบายการสนับสนุนให้พนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นในแต่ละประเทศได้มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงภายในองค์กรของบริษัทญี่ปุ่นนั้น ได้กลายเป็นอุปสรรค กับพนักงาน เนื่องจากขาดความชัดเจน ที่สำคัญผลตอบแทนเช่นเงินเดือนที่บริษัทญี่ปุ่นให้อยู่นั้นมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles