นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)(PTT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปตท.ในไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่มีรายได้รวม 796,595 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 28,968 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานของ ปตท.ขึ้นอยู่กับราคาผลิตภัณฑ์ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และปิโตรเคมี ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยยอมรับว่าราคาปิโตรเคมียังได้รับความกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปทานใหม่ที่เข้ามาในตลาดโลก
ทั้งนี้ ธุรกิจก๊าซฯ คาดว่าต้นทุนจะปรับตัวลดลงจากปีก่อน และไตรมาส 1/2567 จาก Spot LNG นำเข้ามีราคาลดลงมา ทำให้ราคาต้นทุนก๊าซฯ โดยรวมคาดปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ มาใช้ราคา Single Pool Gas Price บ้าง
ส่วนธุรกิจน้ำมันในปีนี้ คาดว่าปริมาณการขายจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจตามตัวเลข GDP ของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น พบว่าค่าการกลั่นยังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ทำให้ค่าการกลั่นปรับลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงการปิดซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงปลายปีนี้ คาดค่าการกลั่นสิงคโปร์(GRM) ปีนี้เฉลี่ย 5.7-6.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมี แม้ว่าราคาขายผลิตภัณฑ์จะปรับตัวดีขึ้น แต่สเปรดยังได้รับแรงกดดันจากซัปพลายใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในตลาด คาดว่าดีมานด์จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ส่วนธุรกิจไฟฟ้า พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะฟื้นตัว ตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงมาร์จินมีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจใหม่ สำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า( EV )พบว่าดีมานด์รถ EV ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การแข่งขันรุนแรง ธุรกิจ Life science ในปีนี้ยังคงรักษาระดับปริมาณการขายยาที่จำหน่ายทั้งเอเชียและสหรัฐฯในระดับใกล้เคียงเดิม
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ทาง IMF คาดการณ์ว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% จากธนาคารกลางทั้งสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลังของปีนี้ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากการเลือกตั้งในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐ ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดขยายตัว 2.7% เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ยังคงเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงหลายด้าน โดยมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 เป็นแรงหนุนต่อเนื่องมายังภาคการบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น