ปธน.ทรัมป์เก็บภาษีอินโดนีเซียกดต่ำกว่า 20% เก็บถูกกว่าไทยถึง 13% อัตราใหม่เก็บเหลือ 19% รัฐบาลอินโดฯ ไม่เก็บภาษี (0%) กับสินค้าสหรัฐ พร้อมจะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ สินค้าพลังงาน-สินค้าเกษตรรวม 19,500 ล้านดอลล์

ปธน.ทรัมป์เก็บ ภาษีอินโดนีเซีย กดต่ำกว่า 20% เก็บถูกกว่าไทยถึง 13% อัตราใหม่เก็บเหลือ 19% รัฐบาลอินโดฯ ไม่เก็บภาษี(0%)กับสินค้าสหรัฐ พร้อมจะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ สินค้าพลังงาน-สินค้าเกษตรรวม 19,500 ล้านดอลล์

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตกลงภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs และการค้ากับประเทศอินโดนีเซียเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้เป็นประเทศที่ 4 ต่อเนื่องจากเวียดนาม จีน และสหราชอาณาจักร ในขณะเดียวกันเป็นประเทศที่ 2 ในกลุ่มอาเซียนต่อจากเวียดนาม ที่สำคัญ อัตราภาษีดังกล่าวของอินโดนีเซียถูกกว่าที่สหรัฐอเมริกาเก็บประเทศไทยถึง 13% และของเวียดนามถูกกว่าที่สหรัฐอเมริกาเก็บประเทศไทยถึง 26%

นายโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อตกลงภาษีและการค้ากับประเทศอินโดนีเซีย มีดังนี้ เช้าวันนี้ สหรัฐอเมริกาสรุปข้อตกลงสําคัญกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียหลังจากพูดคุยกับประธานาธิบดีนายปราโบโว ซูเบียนโต ที่เคารพนับถืออย่างสูง ข้อตกลงครั้งสําคัญนี้เปิดตลาดทั้งหมดของอินโดนีเซียให้สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ส่วนหนึ่งของข้อตกลง อินโดนีเซียตกลงให้คํามั่นจะซื้อพลังงานของสหรัฐอเมริกาเป็นเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(495,000 ล้านบาท) ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของอเมริกามูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(148,500 ล้านบาท) และเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลํา โดยหบายลำเป็นรุ่น 777 เป็นครั้งแรกที่เกษตรกร เกษตรกร และชาวประมงของสหรัฐอเมริกาจะสามารถเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 280 ล้านคนได้อย่างสมบูรณ์และทั้งหมด

นอกจากนี้ อินโดนีเซียจะจ่ายภาษีศุลกากร(ต่างตอบแทน)ที่ 19% ให้กับสหรัฐอเมริกาสําหรับสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกไใมาสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การส่งออกของสหรัฐอเมริกาไปอินโดนีเซียเป็นการปลอดภาษี หรือ 0% และภาษีที่ไม่อยู่ในอัตราภาษี หรือ Non Tariffs Barrier ไม่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา หากมีการขนส่งใด ๆ จากประเทศที่มีอัตราภาษีสูงกว่า ภาษีศุลกากรนั้นจะถูกเพิ่มเข้าไปในภาษีศุลกากรที่อินโดนีเซียถูกเก็บด้วย

ขอบคุณประชาชนชาวอินโดนีเซียสําหรับมิตรภาพและความมุ่งมั่นในการปรับสมดุลการขาดดุลการค้าของเรา เราจะส่งมอบต่อไปเพื่อประชาชนชาวอเมริกันและประชาชนชาวอินโดนีเซีย!

ย้อนกลับไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2025 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งจดหมาย ถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซียเพื่อแจ้งอัตราภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ที่ 32% กับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอัตราภาษีเท่าเดิมกับที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025

ก่อนหน้าที่สหรัฐอเมริกาจะตกลงภาษีและการค้ากับอินโดนีเซียสำเร็จ ประธานาธิบดีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธข้อเสนอในการเจรจาของประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ รัฐบาลอินโดนีเซียจะเก็บภาษีเกือบ 0% กลับสินค้าราว 70% ของสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้อินโดนีเซียเสนอที่จะเจรจาการส่งออกแร่ธรรมชาติสำคัญ สินค้าพลังงาน สินค้าการเกษตร และอาวุธยุทโธปกรณ์

ที่น่าสนใจ คือ อินโดนีเซียไม่ติดใน 15 ประเทศคู่ค้าแรกกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐอเมริกาในปี 2024 เกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.32 ล้านล้านบาท ในขณะที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับอินโดนีเซียในปีผ่านมาที่ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 594,000 ล้านบาท สหรัฐอเมริกาส่งออกเพิ่ม 3.7% แต่กลับนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่ม 4.8% ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาประเมินว่ามูลค่าการค้าดังกล่าวของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตการณ์โรคโควิด-19 สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซีย เช่น น้ำมันปาล์ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ได้แก่ เร้าท์เตอร์และสวิทช์ไฟฟ้า รองเท้า ยางรถยนต์ ยางพารา และกุ้งแช่แข็ง

สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับจดหมายจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในรอบแรกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมผ่านมานั้น มีทั้งหมด 6 ประเทศ ซึ่งพบว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ปรับลดอัตราภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs จากอัตราที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ผ่านมาให้กับหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชาถูกลดอัตราภาษีจาก 49% ลดลง 13% มาเหลือที่ 36% เท่ากับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ กัมพูชาเป็นประเทศเดียวใน 11 ชาติของอาเซียนที่ได้รับอัตราภาษีดังกล่าวสูงที่สุด ประเทศสปป.ลาว และเมียนมาลดภาษีลง 8% และ 4% ตามลำดับ ส่งผลภาษีลดลงจาก 48% และ 44% มาเหลือที่ 40% เท่ากันทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่มี 2 ประเทศที่ปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้น ได้แก่ มาเลเซียถูกเก็บ 25% จากเดิม 24% และอินโดนีเซียถูกเก็บ 35% จากเดิม 32%

สำหรับประเทศเวียดนามนั้น เป็นเพียงประเทศแรกใน 11 ชาติอาเซียนที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมผ่านไปว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและเวียดนามตกลงในข้อเสนอภาษีและการค้า โดยจัดเก็บอัตราภาษีต่างตอบแทนที่ 20% และเก็บอัตราภาษีที่ 40% สำหรับสินค้าที่มีการขนส่งจากที่อื่นผ่านประเทศเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกา และประเทศเวียดนามตกลงไม่เก็บอัตราภาษีใดใดหรือ 0% กับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้สำหรับอัตราภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้ง 11 ประเทศ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 มีดังนี้ 1.กัมพูชา 49% 2.สปป.ลาว 48% 3.เวียดนาม 46% 4.เมียนมา 44% 5.ไทย 36% 6.อินโดนีเซีย 32% 7.มาเลเซีย 24% 8.บรูไน 24% 9.ฟิลิปปินส์ 17% 10.สิงคโปร์ 10% 11.ติมอร์-เลสเต้ 10%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles