ไทม์ ออฟ อินเดีย ซึ่งเป็นสำนักข่าวและสื่อชื่อดังของประเทศอินเดีย รายงานว่าแอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น ได้เช่าเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 5 ลำ บินมามาประเทศอินเดีย เพื่อทยอยนำไอโฟนรุ่นต่างๆ ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศอินเดียกลับเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา การขนไอโฟนมีจำนวนรวมกันหลากหลายรุ่นมากถึง 1.5 ล้านเครื่อง ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักรวมมากถึง 600 ตัน ทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการเพียง 3 วัน สาเหตุมาจาก ประเทศอินเดียเป็นฐานการผลิตสำคัญอีกแห่งของแอปเปิลในทวีปเอเชียนอกเหนือไปจากจีน ในช่วงเดือนมีนาคมดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเก็บอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจากอินเดียเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งต่ำมากหากเทียบกับอัตราภาษีศุลกากรที่เก็บจากจีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
สำหรับปฏิบัติการขนไอโฟนจำนวนกว่า 1.5 ล้านเครื่องกลับเข้ามาตุนไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อขายในตลาดสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ของประธานาธิบดีสหรัฐที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายนผ่านมา ประเทศจีนต้องเผชิญกับอัตราภาษีดังกล่าวสูงที่สุดใน 185 ประเทศทั่วโลกที่ 145% ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศเก็บอัตราภาษีดังกล่าวกับอินเดียเพียง 26% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก ที่สำคัญ ยังได้การปรับลดลงมาที่ระดับ 10% เป็นการชั่วคราวในช่วง 90 วัน เพื่อเปิดช่องให้เจรจาอีกด้วย
ขณะที่มีความเป็นไปได้มากที่แอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น จะสั่งเพิ่มกำลังการผลิตไอโฟนในโรงงานที่อินเดียอีก 20% โดยคาดกันว่าหากสงครามการค้ายังไม่ลดความร้อนแรง อาจมีการเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลกด้วย อินเดียมีโรงงานผลิตไอโฟนอยู่ 3 แห่ง เมื่อปี 2024 อินเดียมียอดผลิตไอโฟนรวมอยู่ที่ 20 ล้านเครื่อง ซึ่งมีผลิตรุ่น 15 และ 16 รวมอยู่ด้วย
ในด้านการขนทองคำแท่งเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2025 ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นธนาคารที่ประกอบธุรกิจนายหน้า หรือดีลเลอร์ซื้อขายสัญญาทองคำล่วงหน้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า ได้แจ้งไปยังตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ชิคาโก หรือซีเอ็มอีในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการขนส่งทองคำแท่งปริมาณ 1.485 ล้านทรอยออนซ์กลับเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีปริมาณขนส่งกลับรวมกันมากถึง 30 ล้านทรอยออนซ์ ทำสถิติปริมาณในการขนส่งทองคำกลับมากที่สุดในรอบ 31 ปี หรือตั้งแต่ปี 1994 นอกจากนี้ยังมีมูลค่าร่วมกันสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 136,000 ล้านบาท
สาเหตุจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้นโยบายและมาตรการขึ้นอัตราภาษีสินค้าระดับสูงที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ราคาสัญญาซื้อขายทองคำทั้งประเภทส่งมอบทันที หรือราคา Spot และราคาล่วงหน้า หรือราคา Future กลับมามีราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ในระยะเวลากว่า 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ที่สำคัญราคาซื้อขายทองคำในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันมีส่วนต่างราคาสูงกว่าตลาดซื้อขายทองคำในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ สาเหตุจากนักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ช่วงหาเสียง และหลังได้เป็น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นทางการ ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่าสต็อกทองคำแท่งจริง มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น 13 ล้านทรอยออนซ์ หรือคิดเป็นมูลค่ามากถึง 38,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.29 ล้านล้านบาท
ธุรกิจนายหน้า หรือดีลเลอร์ซื้อขายสัญญาทองคำ ซึ่งมักจะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลก ได้แจ้งความต้องการในการขนส่งทองคำแท่งกลับเข้าสู่ประเทศสหรัฐมีมูลค่ารวมกันสูงกว่า 8,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 272,000 ล้านบาท ทำสถิติมูลค่าการขนส่งทองคำรายวันกลับเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่ามากอันดับ 2 ในประวัติการณ์ หรือในรอบ 31 ปี หรือตั้งแต่ปี 1994
ทั้งนี้ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ในสหรัฐอเมริกา แจ้งขนส่งทองคำแท่งกลับมากที่สุด หรือถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าทองคำแท่งของบรรดาสถาบันการเงินทั้งหมดทั่วโลก มีดังนี้ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 136,000 ล้านบาท อันดับ 2 ธนาคารดอยช์แบงก์ เยอรมนี มูลค่า 954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 32,436 ล้านบาท อันดับ 3 ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ มูลค่า 926 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 31,484 ล้านบาท อันดับ 4 ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ มูลค่า 653 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 22,202 ล้านบาท อันดับ 5 ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ฝรั่งเศส มูลค่า 433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 14,722 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ รวมกัน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 34,000 ล้านบาท