นายบอร์เก เบรนเด ประธานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เข้าร่วมในการประชุมรอบพิเศษของสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่าสัดส่วนหนี้สินทั่วโลกใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 204 ปี หรือตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1820s กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่งท่ามกลางเงินเฟ้อกลับสูงขึ้น หรือ Stagflation
ทุกประเทศมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินทั่วโลก ปัจจุบันหนี้สินทั่วโลกอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ยุคสงครามนโปเลียน หรือ Napoleonic Wars และตอนนี้ระดับหนี้สินทั่วโลกกำลังใกล้แตะ 100% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกแล้ว ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องพิจารณาการลดหนี้สิน และดำเนินมาตรการทางการคลังที่ถูกต้องโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ ยังคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.2% ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ถือว่าแย่ แต่ก็ไม่เคยเห็นการเติบโตที่ตกต่อย่างนี้มาก่อน ในอดีตเศรษฐกิจโลกเคยขยายตัวระดับ 4% มานานหลายทศวรรษ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ที่พัฒนาแล้วจะชะลอตัวเหมือนในยุคทศวรรษ 1970s
ประธานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum กล่าวต่อไปว่า โลกไม่ควรทำสงครามการค้า เนื่องจากต้องค้าขายซึ่งกันและกัน ขณะนี้ การค้าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ห่วงโซ่อุปทานกลับมาอยู่ในวงแคบเฉพาะประเทศใกล้เคียงกัน และประเทศที่เป็นพันธมิตร แต่ในความเป็นจริง โลกไม่ควรสูญเสียห่วงโซ่อุปทานโลกที่เชื่อมต่อกันเป็นวงกว้าง
ความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลกนั้น แม้ราคาจะปรับลดลงจากสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง แต่ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ หากความตรึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านหวนประทุถึงขั้นทำสงครามโดยตรงทั้ง 2 ประเทศ จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทะยานถึงระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะทั่วโลกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93% ของจีดีพีโลกเมื่อสิ้นปี 2023 ผ่านมา และยังอยู่สูงถึง 9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าภานในสิ้นสุดทศวรรษนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะทั่วโลกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100% ของจีดีพีโลก