นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เดินทางไปรัฐอะแลสกา เพื่อพบหารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา กรรมาธิการด้านรายได้และกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติรัฐอะแลสกา ประธานบริษัท Alaska Gasline Development Corperartion และผู้แทนบริษัท Glenfarne ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา
โดยในการเดินทางไปเจรจาโครงการก๊าซธรรรมชาติเหลวครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเยือนไทยของ Mr. Mike Dunleavy ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump ได้เสนอข้อริเริ่มความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG เพิ่มเติมจากความร่วมมือเดิมที่ไทยได้มีการนำเข้าน้ำมันและรับซื้อ LNG จากสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนแนวนโยบายของกระทรวงพลังงานในการแสวงหาแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของไทยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีบทบาทสำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยความร่วมมือในโครงการดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการลงทุนและผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทยและผลักดันบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ในภูมิภาคเอเชียในอนาคตอีกด้วย
โดยคาดว่าจะช่วยเน้นย้ำความสนใจของไทยที่จะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในแหล่งดังกล่าว รวมถึง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวจากสหรัฐอเมริกาในราคาที่เหมาะสม
สำหรับแหล่งอะแลสกาถือเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเข้มแข็ง รวมถึง มีศักยภาพของปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วในพื้นที่ North Slope กว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่สามารถผลิตและส่งออก LNG ได้กว่า 40 ล้านตันต่อปี และส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียได้อย่างสะดวกผ่านทางมหาสมุทรแปซิฟิกในราคาที่แข่งขันได้ เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซต่ำ และสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ภายใน 10-15 วัน ในขณะที่ขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางใช้ระยะเวลาถึง 25-30 วัน
ทั้งนี้ แนวทางการผลักดันความร่วมมือดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะมีการพิจารณาปริมาณของการนำเข้าก๊าซจากแหล่ง Alaska LNG ที่มีความเหมาะสม ซึ่งอาจอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี โดยขึ้นอยู่กับราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจรจา