ปลัดคลังชี้ไทยเสียเปรียบสินค้าจีน เก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท หวังเพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม

86
0
Share:
ปลัดคลังชี้ไทยเสียเปรียบสินค้าจีน เก็บ ภาษี สินค้านำเข้า ต่ำกว่า 1,500 บาท หวังเพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น เป็นนโยบายที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และต่างประเทศ โดยเป็นนโยบายที่ไม่ได้เน้นเรื่องรายได้เป็นสำคัญ โดยไทยเสียเปรียบสินค้าจีนในเรื่องต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ gap กว้างมาก ดังนั้น ถ้าเขาได้เปรียบจาก VAT 7% ไปอีก จะเป็นแต้มต่อที่สูงเกินไป นโยบายนี้ อยากเห็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริการการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. – 31 ธ.ค.67 ในระหว่างที่รอกรมสรรพากรแก้กฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 68 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในระยะยาว โดยคาดว่าในช่วง 4-5 เดือนนี้ กรมฯ จะสามารถจัดเก็บรายได้จากมาตรการดังกล่าวราว 700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดนในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-พ.ค.67) พบว่า มีปริมาณนำเข้าสินค้าดังกล่าว ราว 89 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่าราว 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30-40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้าดังกล่าว รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 1,800 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2567 สินค้ากลุ่มนี้จะมีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากคิดเป็นการจัดเก็บภาษีตลอดทั้งปี น่าจะอยู่ที่ราว 2,100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในด่านหลักทั่วประเทศ เพื่อรองรับการดำเนินการตามประกาศที่จะเริ่มให้มีการจัดเก็บภาษี VAT สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.นี้เป็นต้นไป โดยพบว่าปัจจุบันด่านศุลกากรที่มีสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาทเข้ามาค่อนข้างมาก ได้แก่ ด่านมุกดาหาร และด่านนครพนม เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางบกจากตอนใต้ของจีน ผ่านเวียดนาม ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยทางนี้ เพราะมีความสะดวก และมีค่าขนส่งที่ถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศไปที่ด่านสุวรรณภูมิ

“ตั้งแต่ 5 ก.ค. ถ้าคนที่รอรับของที่บ้าน หากเป็นสินค้าที่นำเข้าทางมุกดาหาร นครพนม สุวรรณภูมิ จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการขนส่งจะเป็นผู้จ่าย VAT ให้กับผู้บริโภค แต่ส่วนที่มีการนำเข้าจากไปรษณีย์ ซึ่งเชื่อว่ามีปริมาณที่น้อย ถ้าสินค้าเกิน 1,500 บาท ต้องจ่าย VAT ก็จะมีใบสั่งเก็บจากศุลกากรติดไปที่หน้ากล่อง แล้วให้ท่านสแกนจ่าย VAT แล้วจึงจะนำส่งสินค้า แต่ถ้าไม่สามารถนำจ่ายได้ ของก็จะถูกนำกลับไปไว้ที่ไปรษณีย์ และต้องไปรับที่ไปรษณีย์” โฆษกกรมศุลกากร กล่าว

พร้อมเตือนประชาชนให้ระวังการจัดส่งสินค้าจากทางไปรษณีย์แล้วถูกแอบอ้างว่าต้องจ่าย VAT 7% โดยยืนยันว่า ถ้าจะมีการเรียกเก็บจริง ต้องมีใบสั่งเก็บจากกรมศุลกากรติดไว้อย่างชัดเจน แต่หากเป็นการจัดส่งโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ นั้น ภาษี VAT ได้ถูกรวมไว้กับราคาสินค้าที่ประชาชนได้จ่ายให้กับแพลตฟอร์มไปแล้ว

ในสัปดาห์นี้ กรมสรรพากร จะหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับรายละเอียดในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทโดยระหว่างนี้ กรมฯ จะเร่งแก้กฎหมายประมวลรัษฎากร เพื่อให้อำนาจกรมสรรพากรสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง โดยปรับขั้นตอนให้แพลตฟอร์มเป็นผู้จัดเก็บภาษีในส่วนนี้ และนำส่งให้กับกรมสรรพากรโดยตรง ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ตั้งแต่ต้นปี 68

“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากแพลตฟอร์ม ทั้งแพลตฟอร์มในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศ คิดว่าจะดำเนินการตามนโยบายให้เร็วที่สุด แต่ปลายทางจะมีการออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ. มีการแก้ไขประมวลรัษฎากร การดำเนินการของแพลตฟอร์มต้องทำความเข้าใจตกลงกัน แม้จะเป็นเรื่องที่ทำมาหลายประเทศ แต่ต้องเตียมการเชิงระบบ เราจะทำให้เร็วที่สุด ทั้งขั้นตอนทางเทคนิค และกฎหมาย”