น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2568 คาดว่าจะยังเห็นสถานการณ์แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตช้าและต่ำ โดยมีอัตราการขยายตัวราว 0.2% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัว 0.6% ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ที่ยังจะกดดันให้สินเชื่อรายย่อยยังหดตัวต่อเนื่อง
ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพ ยังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสินเชื่อรายย่อย รวมถึงฝั่งสินเชื่อ SME โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจจากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) พบ 5 ประเด็นสำคัญ คือ
1. หนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด
2. ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง
3. สถาบันการเงินทุกประเภทที่ปล่อยสินเชื่อ เผชิญผลกระทบด้านปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพชัดเจนขึ้น
4. การเจาะกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ธุรกิจบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น
5. ประเภทธุรกิจหลักที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ เน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่ง-ค้าปลีก ที่พักและอาหาร และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ปัญหาอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การแข่งขันรุนแรง และการฟื้นตัวของธุรกิจที่กระจายไม่ทั่วถึง รวมถึงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ณ สิ้นเดือนพ.ย.67 ชี้ว่าการสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืน
ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้สร้างความไม่แน่นอนขึ้นต่อการลงทุนและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าที่ต้องรอความชัดเจนในต้นปีหน้า ซึ่งได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซาเหมือนช่วงทศวรรษ 1930
นอกจากนั้น นโยบาย America First จะทำให้มีการเปลี่ยนระเบียบโลก (Global Order) สร้างความเสี่ยงต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้