บริษัท โตเกียว โชโก รีเสิร์ช (Tokyo Shoko Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยของญี่ปุ่นรายงานข้อูลระบุว่า จำนวนบริษัทที่ล้มละลายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 10,000 แห่งเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ในปี 2567 เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากประสบกับการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากเงินเยนที่อ่อนค่า
โดยบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการยุติมาตรการผ่อนผันภาษีพิเศษที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาคเอกชนมีภาระทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจำนวนบริษัทที่ล้มละลายในปี 2567 เพิ่มขึ้น 15.1% สู่ระดับ 10,006 แห่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันปีที่ 3 โดยในจำนวนนี้ มีบริษัท 10,004 แห่งที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขยาดย่อม ขณะที่หนี้สินโดยรวมอยู่ที่ 2.34 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์) ลดลง 2.4% จากปี 2566
บริษัทในภาคบริการซึ่งรวมถึงร้านอาหารนั้น มีการยื่นล้มละลายสูงสุดที่ 3,329 ราย เพิ่มขึ้น 13.2% และสูงเกิน 3,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533 ตามมาด้วยภาคการก่อสร้างซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการปฏิรูปเวลาการทำงาน โดยมีจำนวนการยื่นล้มละลาย 1,924 ราย เพิ่มขึ้น 13.6%
ทั้งนี้ เงินเยนอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 37 ปีในช่วงฤดูร้อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าของธุรกิจต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ย่ำแย่ลงจากปัญหาประชากรสูงอายุของญี่ปุ่นและการใช้กฎระเบียบการทำงานล่วงเวลาที่เข้มงวดมากขึ้นนั้น ยังสร้างแรงกดดันต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างและการบริการ