ปี 68 โรงเรียนนานาชาติในไทยบานสะพรั่ง ผุดทั่วไทย 249 แห่ง ทั่วประเทศเปิดเพิ่ม 10 โรงเรียน ไทยจ่อขึ้นศูนย์กลางโรงเรียนนานาชาติของภูมิภาคอาเซียน

ปี 68 โรงเรียนนานาชาติ ในไทยบานสะพรั่ง ผุดทั่วไทย 249 แห่ง ทั่วประเทศเปิดเพิ่ม 10 โรงเรียน ไทยจ่อขึ้นศูนย์กลางโรงเรียนนานาชาติของภูมิภาคอาเซียน

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2567 ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนทั้งหมด 30,000 แห่ง แม้มีโรงเรียนนานาชาติเพียง 267 แห่ง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% แต่ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เปิดใหม่เป็นจำนวนมากถึง 10% ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติ 249 แห่ง นักเรียน 77,734 คน โดยเพิ่มขึ้น 10% จากในปีที่ผ่านมา ที่มีโรงเรียนนานาชาติ 236 แห่ง นักเรียน 70,200 คน ในปี 2566

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่จังหวัดใหญ่และเป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และชลบุรี

มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติใหม่เพิ่มขึ้น 10% สะท้อนถึงความเชื่อมั่น โดยมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่เปิดรับนักเรียนชาวไทยและกลุ่มที่เปิดรับนักเรียนชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนจากต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีน ที่เลือกส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติของไทยด้วย

นายศุภเสฏฐ์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติมีความนิยมสูงขึ้น คือ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั่วไป รวมถึงโรงเรียนรัฐบาลที่มีหลักสูตรพิเศษและอัตราค่าเทอมมีความใกล้เคียงกับโรงเรียนนานาชาติ ส่งผลให้กระแสความนิยมขยายวงกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เชียงใหม่แข่งดุเปิดปีละแห่ง: นายบุญเอนก มณีธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า ที่ใช้หลักสูตร International Program ภาษาอังกฤษ 80% และภาษาไทย 20% ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตร International Program ถือว่าเข้มข้น ขณะนี้มีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่ประมาณ 20 แห่ง มีการลงทุนเปิดใหม่ปีละ 1 แห่ง

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติเติบโต และมีนักเรียนไทยเพิ่มขึ้นในแต่ละปีมาจาก 3 เหตุผล คือผู้ปกครองต้องการให้ลูกมีการใช้ภาษาอังกฤษที่มาตรฐาน และได้เรียนในหลักสูตรระดับมาตรฐานโลก และปฏิเสธวิถีการเรียนการสอนแบบไทยๆ

“ผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ต้องการให้ลูกได้อยู่ในระบบโรงเรียนนานาชาติเต็มรูปแบบ จึงต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตรที่มาตรฐาน จากเกรด 1 ถึงเกรด 12 ประมาณ 20 ล้านบาท ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ถือว่าแข่งกันดุ แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะลงทุนเพิ่มในระดับมัธยมศึกษา” นายบุญเอนกกล่าว

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles