ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.6% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 3.2% โดยสาเหตุที่ต้องปรับลด GDP ลงเนื่องจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม, การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ทำได้ต่ำกว่าที่คาดไว้
โดยในช่วงไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 2% มีเพียงภาคการผลิต/การส่งออก และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนไตรมาส 2/67 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อยู่ที่ราว 2.5% จากผลของการเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 รวมทั้งยังมีแรงส่งจากภาคการผลิต/การส่งออก และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ขณะที่ไตรมาส 3/67 เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1% ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 67 และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต/การส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนไตรมาส 4/67 เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ 2.8%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังประเมินการส่งออกปี 67 ด้วยว่า จะขยายตัว 2.8% จากเดิม 3.0%, อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1% (จากเดิม 2.0%), จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน, รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.61 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.48 ล้านล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจกล่าวว่า ขณะนี้เรามองว่าต้องทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 3% ให้ได้ หากรัฐบาลมีการเตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะโครงการลงทุนภาครัฐได้ทันที เมื่อผ่านงบประมาณ และยิ่งใช้จ่ายเงินงบประมาณได้เร็วก็จะยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทุกๆ 1 แสนล้านบาท ของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนภาครัฐ จะมีผลให้จีดีพี เพิ่มขึ้น 0.68% รวมถึงมีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้นโยบายทางการเงินมาช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในเดือนเมษายน ก็สามารถทำได้ เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดย 2 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 0.47% ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย 0.5-3%
นอกจากนี้ หากมีมาตรการการคลังผ่านเงินโอน โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากทำเร็วก็ยิ่งมีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยการใช้งบทุกๆ 100,000 ล้านบาทของเงินโอน จะทำให้จีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.26% ประกอบกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจ อาทิ ฟรีวีซ่าชั่วคราวหรือถาวร การเพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเพิ่มรายได้จากการส่งออก ซึ่งทุกปัจจัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้เกินกว่า 3%
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่าปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ได้กดดันให้ยอดหนี้เสียมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ ดังนั้นจึงคาดว่าครึ่งปีแรกจีดีพีไทย จะขยายตัวได้ 2.3% ส่วนครึ่งปีหลัง ขยายตัวได้ 2.9% เมื่อเฉลี่ยทั้งปีแล้ว จะขยายตัวได้ 2.6%
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ ภาคการผลิต ที่มีแนวโน้มจะสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชน ยังเป็น Key Driver ที่ช่วยประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และ การส่งออกสินค้า สามารถพลิกกลับมาเป็น Key Driver ของเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง