นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หรือภาวะช็อกครั้งนี้ จะไม่จบเร็ว และไม่เห็นผลกระทบเร็ว สาเหตุจากต้องรอผลการเจรจาภาษีการค้าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 จึงจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดมากขึ้น หลายคนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะหนักขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ถ้าถามถึงจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเห็นหลังจากไตรมาส 4 ปี 68 ที่ผลการเจรจาเรื่องภาษีชัดเจนขึ้น
โอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นลักษณะตัววี (V) ที่ขากว้าง เนื่องจากเจอพายุเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีและการค้า แต่จะปรับลดลงแค่ไหน ล้วนขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องอัตราภาษีฯ ทั้งกับฝั่งสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ
สิ่งนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และอาจสร้างไม่แน่นอนจนไปถ่วงการลงทุนต่างๆ ได้ และต้องติดตามการเจรจาการค้าของจีน ขอบเขตของการค้าโลกที่เปลี่ยนไป จะเป็นปัจจัยหลักว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวลงจะลึกแค่ไหน และกระทบอย่างไรในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะลึกเท่าพายุ หรือภาวะช็อก Shock ในครั้งก่อนๆ เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2008 หรือ พ.ศ. 2551
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าต่อไปว่า เมื่อผ่านจุดต่ำสุดมาถึงช่วงฟื้นตัว คงต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับ 2 ช่วงแรก สาเหตุจากการปรับตัวของเศรษฐกิจไทย เช่น ซัพพลายเชนใช้เวลาปรับเป็นปี หรือให้เวลามากน้อยจะต่างกันในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม จากนั้นจะมาถึงช่วงหลังจากฟื้นตัว ถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยก็จะต่ำกว่าระดับที่เคยอยู่สมัยก่อน ทั้งจากการค้า เศรษฐกิจโลกโดยรวม และไทยชะลอตัวลง
ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องทำคือในช่วงแรกทำอย่างไรให้ผลกระทบเบาบางลง และในช่วงการฟื้นตัวจะทำอย่างไรให้ท่ามกลางพายุเหล่านี้ เศรษฐกิจไทยต่างผ่านปัญหามาได้หลายครั้ง ซึ่งท้ายสุดเราจะผ่านพ้นไปได้แต่แบบไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าจะการลดผลกระทบในช่วงที่ 1 หรือช่วงการฟื้นตัวจะทำอย่างไรให้เอื้อต่อการหาโอกาสจากตลาดใหม่ๆ