ผู้ว่าแบงก์ชาติไทยบินจับมือผู้ว่าแบงก์ชาติจีน เซ็นบันทึกความเข้าใจหนุนใช้เงินเงินท้องถิ่น

65
0
Share:
ผู้ว่า แบงก์ชาติ ไทย บินจับมือผู้ว่าแบงก์ชาติ จีน เซ็นบันทึกความเข้าใจหนุนใช้เงินเงินท้องถิ่น

รัฐบาลประเทศจีนพยายามผลักดันการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลักดันให้เงินหยวนขึ้นไปเป็นสกุลเงินหลักของโลก พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้พันธมิตรและคู่ค้าของจีนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น อย่างเช่น รัสเซีย อินเดีย และประเทศต่างๆ ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในครั้งนี้ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น

สำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลประเทศจีน รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2024 ว่าผู้ว่าการธนาคารกลาง จีน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของธนาคารกลางทั้งจีนและไทยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น

สอดคลัองกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์การเดินทางไปของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ไปยังประเทศจีน ระบุว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ได้พบปะกับ นายพาน กงเชิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งสองแห่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนผ่านมานั้น สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ได้รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แสดงท่าทีในการหามทางออกที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลดการพึ่งพิงการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อทำธุรกรรมในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างกัน