สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยในปี 2566 ว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุของฝุ่นพิษ PM 2.5 มีจำนวนมากกว่า 10.5 ล้านคน หากย้อนกลับไปในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 สภาพัฒน์เปิดเผยรายงานภาวะสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวว่า ผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 มีต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต โดยอ้างถึงรายงานของผลการศึกษาองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายสูงขึ้น หากสามารถลดระดับฝุ่น PM2.5 ลงมาอยู่ที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรได้ จะช่วยลดอัตราซึมเศร้าได้ถึง 2.5%
สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า คนไทยป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับมลพิศทางอากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 13 กลุ่มโรค และหนึ่งในปัจจัยกระตุ้น คือมลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 จำนวนการป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของไทย พบว่า คนไทยป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 5 ปีติดต่อกัน เริ่มจากปี 2563 มีจำนวน 6,880,709 ราย ปี 2564 มีจำนวน 7,792,689 คน ปี 2565 มีจำนวน 10,361,085 คน ปี 2566 มีจำนวน 11,230,456 คน และปี 2567 มีจำนวน 12,368,119 คน นั่นหมายถึงในช่วง 5 ปีติดต่อกันผ่านมามีจำนวนคนไทยป่วยเพิ่มขึ้นถึง 5,487,410 คน หรือพุ่งขึ้น 79.75% หรือเฉลี่ยป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 1,097,482 คน หรือเฉลี่ยป่วยมากขึ้นปีละ 15.95%
พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ฝุ่นพิษ PM 2.5 กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับเด็กที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ การสัมผัสฝุ่นในระยะยาวอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ หรือมีไอคิวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การสัมผัสฝุ่นเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตเร็วกว่าที่คิด