นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (พีดีพี 2024) พบว่าประมาณการ ค่าไฟ ตลอดแผนพีดีพี 2024 ช่วง 14 ปี ปลายแผนคือ พ.ศ.2580 ค่าไฟจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8704 บาทต่อหน่วย โดยสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วย พลังงานสะอาด 51% จำนวนนี้แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ 16% พลังน้ำต่างประเทศ 15% และอื่นๆ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติ 41% ส่วนถ่านหินและลิกไนต์ 7% โดยสัดส่วนนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะรอให้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ปลดระวาง ทั้งนี้ พีดีพี 2024 จะบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลขนาดเล็ก (เอสเอ็มอาร์) ช่วงปลายแผนด้วย กำลังผลิต 600 เมกกะวัตต์
โดยพีดีพี 2024 คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 3.1% ภายใต้ 3 หลักการสำคัญ คือ ความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ต้นทุนไฟฟ้าระดับเหมาะสม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า มุ่งเน็ตซีโร่ โดยปัจจัยเร่งการใช้ไฟมาจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑล และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน 6 เมืองหลัก เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าปลายแผนจะอยู่ที่ 56,133 เมกกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยการใช้เกณฑ์ความมั่นคง คือ ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (แอลโอแอลอี) เกณฑ์ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี เพราะแอลโอแอลอีจะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้า ความต้องการใช้ไฟฟ้า และความมั่นคงระบบไฟฟ้าตลอดทุกช่วงเวลา ดังนั้นแอลโอแอลอีจึงเหมาะสมกว่าปริมาณสำรองไฟฟ้า
นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า พีดีพี2024 ได้ถอนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 1,400 เมกะวัตต์ ให้เหตุผลว่าต้นทุนค่าก่อสร้างท่อส่งก๊าซสูงไม่คุ้มค่าการลงทุนและมีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า และมีสายส่ง 500 เควี ที่มีความมั่นคงอยู่แล้วนั้น สร.กฟผ. ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้างต้น เพราะ กฟผ. ได้ทบทวนการออกแบบโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีใหม่แล้ว สามารถดำเนินการได้เองทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดหาเชื้อเพลิง, การวางท่อก๊าซและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยมีต้นทุนโครงการที่ไม่เกินกรอบค่าไฟฟ้าที่กำหนด จึงเห็นควรให้ กฟผ. ได้มีโอกาสในการดำเนินการโครงการนี้ต่อไป
ปัจจุบันภาคใต้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่เพื่อความมั่นคงซึ่งโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียงมีฉันทามติให้ก่อสร้างได้เรียบร้อยแล้วและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว จึงอยากให้กระทรวงพลังงานทบทวนเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้