นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เอทานอลจากถ่านหิน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเริ่มผลิตเอทานอลจากถ่านหินเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตเอทานอลจากถ่านหินกว่า 1 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2566 จีนเป็นผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 5 ของโลก ผลิตได้ 3,596.14 ล้านลิตร รองจาก สหรัฐฯ (58,673.88 ล้านลิตร) บราซิล (31,267.50 ล้านลิตร) สหภาพยุโรป (5,450.99 ล้านลิตร) และอินเดีย (5,413.13 ล้านลิตร) (ที่มา: statista.com)
โดยประเทศผู้ผลิตเอทานอลที่สำคัญของโลกอย่างสหรัฐฯ และบราซิล ยังคงใช้ข้าวโพด อ้อย หรือพืชพลังงานอื่น ๆ อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวฟ่าง เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งการใช้วัตถุดิบแบบดั้งเดิมส่งผลกระทบต่ออุปทานพืชอาหารของมนุษย์ รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาพืชเศรษฐกิจในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จีนเร่งพัฒนาการผลิตเอทานอลโดยใช้ถ่านหินซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดและมันสำปะหลังจากต่างประเทศ
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความต้องการใช้เอทานอลจากถ่านหินของจีนมีด้วยกันหลายประการไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงานด้วยขนาดประชากรที่มากเป็นอันดับต้นของโลกและจากขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องทำให้จีนมีความต้องการด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้นทุกปีจึงจำเป็นต้องแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกซึ่งจีนมีปริมาณถ่านหินสำรองในประเทศเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การลดการใช้ถ่านหินในประเทศ เพื่อลดมลพิษของจีน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนหันมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินอย่างจริงจัง รวมถึงนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ในด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิต
เอทานอลจากถ่านหินของรัฐบาล และการกำหนดนโยบายที่ช่วยสร้างอุปสงค์ของเอทานอลจากถ่านหินภายในประเทศ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันเชื้อเพลิงชีวภาพ E10 สู่ตลาดยานยนต์ภายในประเทศ
แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของจีนจะก้าวหน้าไปมาก แต่การพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้กับการผลิตเอทานอลจากข้าวโพดและมันสำปะหลังนั้นยังต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมาจีนนำเข้ามันสำปะหลังเส้นจากไทยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลอย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของจีนเพื่อลดแรงกดดันต่ออุปทานพืชอาหารสร้างความมั่นคงด้านอาหารและลดการพึ่งพาการนำเข้าจะทำให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ผลิตเอทานอลของจีนอาจลดลงในอนาคต
รวมทั้งหากจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลที่มีประสิทธิภาพสูง เกิดการประหยัดต่อขนาด และมีราคาที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบทางการเกษตร อาจทำให้เอทานอลจากถ่านหินเข้ามาแทนที่ เอทานอลที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อราคาเอทานอลในตลาดโลก และราคาขายเอทานอลในประเทศของไทยได้ในที่สุด
“จากแนวโน้มดังกล่าว หากในอนาคตจีนลดการนำเข้ามันสำปะหลังลง ไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัว แสวงหาตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงตลาดเดียว รวมถึงขยายฐานการตลาดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้มันสำปะหลังในประเทศไทย โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม อาทิ ผลิตเม็ดไบโอพลาสติก และอาหารสุขภาพ ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง การส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น” นายพูนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ จากแดชบอร์ดวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Dashboard) ของเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ระหว่างมกราคม – มิถุนายน ปีนี้ ไทยส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ รวมมูลค่า 1,718.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยเป็นการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ มูลค่า 889.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 แป้งมันสำปะหลังแปรรูป มูลค่า 469.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.49 มันเส้น มูลค่า 328.10 ล้านเหรัยญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 63.13 มันอัดเม็ด มูลค่า 3.45 ล้านเหรัยญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 86.67 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ มูลค่า 27.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 34.64 โดยจีนเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นร้อยละ 52.01 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 10.09) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.21) ไต้หวัน (ร้อยละ 5.00) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 3.70) ตามลำดับ