นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ระดับ 100.35 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.84% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อ มี.ค. จะอยู่ที่ 1.00-1.10%
โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. – มี.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.08% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน มี.ค. 68 สูงขึ้น 0.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงไตรมาสแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 0.89%
ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ เตรียมพิจารณาปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ลงอีกเล็กน้อย จากกรอบเดิมที่วางไว้ 0.3-1.3% ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรก ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีผลจากนโยบายที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราสูงถึง 37%
อย่างไรก็ดีจากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะไม่ลงไปถึงระดับติดลบ ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศนั้น จากข้อมูลล่าสุดเดือน ก.พ. 68 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 22 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศ ที่มีการประกาศตัวเลข (อินโดนีเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ลาว และไทย)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2/68 ผู้อำนวยการ สนค. คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ 0.14-0.15% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.1-0.2% โดยราคาน้ำมันในไตรมาส 2 จะมีผลค่อนข้างมากต่อเงินเฟ้อ ทั้งเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล ซึ่งน้ำมันทั้ง 3 ชนิดนี้ ราคาต่ำกว่าไตรมาส 2 ของปีก่อน