นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์
ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้า จากการที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียจากพรรค BJP ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 และได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่ง อินเดีย เป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายสำคัญที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ตั้งทีมไทยแลนด์มาบูรณาการทำงานร่วมกัน สร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ
โดยนายพูนพงษ์ รายงานว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกด้วย GDP ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 8.2ในปีงบประมาณ 2566 – 2567 (เมษายน 2566 – มีนาคม 2567) ที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยขยายตัวสูงกว่าที่รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.6 และเมื่อครั้งที่นเรนทรา โมดี เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียในขณะนั้นขยายตัวสูงอยู่ที่ร้อยละ 7.4 เช่นกัน
ในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าการที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย จะไม่ส่งผลกระทบในการกำหนดทิศทางนโยบายด้านต่างประเทศและการค้าต่างประเทศในระยะยาวซึ่งคาดการณ์ว่ารัฐบาลอินเดียจะยังคงนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศไว้ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เนื่องจากพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance: NDA)ประกอบด้วยพรรค BJP ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคแนวร่วมที่สำคัญ โดยเฉพาะพรรค TDP และพรรค JDU เองก็มีนโยบายที่คล้ายคลึงกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เช่นกัน ประกอบกับที่ผ่านมาอินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและเป็นเอกเทศ (independent foreign policy) สนับสนุนโลกหลายขั้วอำนาจ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งส่งผลดีต่ออินเดียอย่างชัดเจนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างระหว่างจีนและสหรัฐฯ นำไปสู่การยกระดับอินเดียสู่ระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกแทนที่จีน และพาอินเดียเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ (Emerging Power)
นอกจากนี้ อินเดียเพิ่งมีการเริ่มใช้นโยบายด้านการค้าต่างประเทศใหม่ปี 2566 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 จากเดิมที่มีการใช้นโยบายการค้าต่างประเทศในช่วงปี 2558 – 2563 จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาดการณ์ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับสภาวะปัจจุบันและก่อนหน้านี้ของอินเดีย โดยนโยบายปี 2566 ได้กำหนดแผนงานในการบูรณาการอินเดียเข้ากับตลาดโลก และทำให้อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ (trust) และไว้วางใจได้ (reliable) มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยเพื่อสนับสนุนปรัชญา “อัตมานิรภาร์ ภารัต” (Atmanirbhar Bharat) หรือนโยบายพึ่งพาตนเองของอินเดีย ในการส่งเสริมสินค้าอินเดียในตลาดห่วงโซ่อุปทานโลก ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการส่งออกโลก มุ่งเน้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร โอมาน ศรีลังกา ออสเตรเลีย และเปรู
โดยล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอินเดียได้ลงนามความตกลง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งผลการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่งของอินเดียสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการส่งออกของอินเดียที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ 2566 – 2567(เมษายน 2566 – มีนาคม 2567) โดยการส่งออกสินค้าและบริการของอินเดียรวมกันมีมูลค่าสูงกว่า 776.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าต่างประเทศของอินเดียต่อไป เนื่องจากอินเดียยังคงเป็นตลาดที่น่าจับตามองจากนานาประเทศ จากขนาดตลาดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกมากกว่า 1,400 ล้านคน ประกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2568 รองจากสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี โดยอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย 10 ประเทศสำคัญที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเร่งผลักดันการใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลง FTAที่ไทยมีกับอินเดียทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ไทย–อินเดีย และ อาเซียน–อินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างการยกระดับความตกลงให้มีความทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทย รวมถึงผลักดันสินค้าไทยให้สามารถจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ของอินเดีย
ทั้งนี้ ปี 2566 อินเดียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 16,044.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 555,217 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของการค้ารวมของไทยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่ (1) เม็ดพลาสติก (2) เคมีภัณฑ์ (3) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (4) อัญมณีและเครื่องประดับ และ (5) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย ได้แก่ (1) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (3) เคมีภัณฑ์ (4) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และ (5) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์