นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงบการเงินรอบปีบัญชี 2567 (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากนิติบุคคลกลุ่มรอบปีปกติ ซึ่งครบกำหนดวันที่ 4 มิ.ย. 2568) พบว่า รายได้รวมของระบบธุรกิจไทยในปี 2567 อยู่ที่ 61.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.96% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้ 59.96 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 2.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.16% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีกำไร 2.36 ล้านล้านบาท แสดงถึงแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนของระบบเศรษฐกิจภาคเอกชน
ทั้งนี้ กรมยังได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกใน 5 มิติ คือ 1. ขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) ทำรายได้สูงสุดถึง 50.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 82.07% ของทั้งระบบ ธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทำรายได้ 4.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.77% ของทั้งระบบ และอัตราการเติบโตของรายได้ก็สูงสุดที่ 28.46% เมื่อเทียบกับปี 2566 อีกทั้งกำไรสุทธิของธุรกิจขนาด S เติบโตสูงสุดถึง 127.25% จากภาวะขาดทุนปี 2566 สะท้อนว่าในปี 2567 ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีศักยภาพในการปรับตัวและสร้างผลกำไรได้ดีกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
2. กลุ่มธุรกิจ พบว่ากลุ่มธุรกิจที่ทำรายได้และกำไรสูงใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ประเภทรายได้ กลุ่มขายส่ง ขายปลีก ทำรายได้สูงสุดอยู่ที่ 26.22 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.89% ของทั้งระบบ กลุ่มการผลิต ทำรายได้อยู่ที่ 23.12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 37.81% ของทั้งระบบ และกลุ่มบริการ ทำรายได้อยู่ที่ 11.80 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.30% ของทั้งระบบ โดยกำไร กลุ่มบริการ ทำกำไรสูงสุดอยู่ที่ 1.31 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46.87% ของทั้งระบบ และยังเป็นกลุ่มเดียวที่มีกำไรเติบโต 64.25% เมื่อเทียบกับปี 2566 รองลงมา คือ กลุ่มการผลิต ทำกำไรอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 38.84% ของทั้งระบบ และกลุ่มขายส่ง ขายปลีก ทำกำไรอยู่ที่ 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.29% ของทั้งระบบ
3. ธุรกิจเด่น พบว่า นิติบุคคลที่ทำรายได้และกำไรสูงใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ประเภทรายได้ กลุ่มขายส่ง ขายปลีก คือ ธุรกิจขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้สูงสุดอยู่ที่ 5.14 ล้านล้านบาท รองลงมากลุ่มการผลิต คือ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทำรายได้อยู่ที่ 3.76 ล้านล้านบาท และกลุ่มบริการ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้อยู่ที่ 1.18 ล้านล้านบาท โดยประเภทกำไร กลุ่มบริการ คือ ธุรกิจโฮลดิ้ง ทำกำไรสูงสุดอยู่ที่ 0.32 ล้านล้านบาท รองลงมา กลุ่มการผลิต คือ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ ทำกำไรอยู่ที่ 0.10 ล้านล้านบาท และกลุ่มขายส่ง ขายปลีก คือ ธุรกิจขายจักรยานยนต์ ทำกำไรอยู่ที่ 0.04 ล้านล้านบาท
4. พื้นที่ตั้งธุรกิจ พบว่ากรุงเทพมหานครยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทำรายได้ 37.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.55% ของรายได้นิติบุคคลทั้งประเทศ โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้ 5.03% เมื่อเทียบกับปี 2566 และทำกำไรได้ 1.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 66.90% ของกำไรนิติบุคคลทั้งประเทศ (2.79 ล้านล้านบาท) ส่วนพื้นที่ภาคใต้เป็นภาคเดียวที่มีความโดดเด่นด้านการเติบโตของรายได้เพิ่มสูงขึ้น 3.35% เมื่อเทียบกับปี 2566 และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของกำไรมากที่สุดถึง 56.80% เมื่อเทียบกับปี 2566
5. เปรียบเทียบรายธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ร้านอาหาร ทำรายได้รวมกว่า 3.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.69% เมื่อเทียบกับปี 2566 และมีกำไรพุ่งแรงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 58.63% เมื่อเทียบกับปี 2566 นิติบุคคลที่มีรายได้โดดเด่น คือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MK) มูลค่า 13,778 ล้านบาท , บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ร้านในเครือ เช่น Mister Donut, Yoshinoya, ชาบูตง) มูลค่า 11,919 ล้านบาท, บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (KFC) มูลค่า 10,709 ล้านบาท, บริษัท แมคไทย จำกัด (McDonald’s) มูลค่า 7,961 ล้านบาท, บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (สุกี้ตี๋น้อย) มูลค่า 7,075 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีกำไรสูงสุด คือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลค่า 4,573 ล้านบาท, บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,772 ล้านบาท , บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (สุกี้ตี๋น้อย) มูลค่า 1,169 ล้านบาท, บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,090 ล้านบาท และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 559 ล้านบาท
2. ขนส่งและโลจิสติกส์ ทำรายได้รวม 5.19 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2566 แต่ทำกำไรถึง 1.79 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.19% เมื่อเทียบกับปี 2566 ทั้งนี้ ธุรกิจ e-Commerce เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจนี้เติบโตและเป็นพันธมิตรสำคัญกับแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ นิติบุคคลที่มีรายได้โดดเด่น คือ บริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด (J&T Express) มูลค่า 25,487 ล้านบาท, บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด (Flash Express) มูลค่า 24,729 ล้านบาท, บริษัท ไทย แฮปปี้ โลจิสติกส์ จำกัด (บริษัทตัวแทนขนส่งของ Tiktok Shop ในไทย) มูลค่า 19,436 ล้านบาท, บริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด มูลค่า 14,329 ล้านบาท และบริษัท ออลล์ นาว โลจิสติกส์ จำกัด (บริษัทในกลุ่ม CP บริหารจัดการโลจิสติกส์แบบครบวงจร) มูลค่า 11,698 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีกำไรสูงสุด คือ บริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด (Lazada Express) มูลค่า 1,742 ล้านบาท , บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด (Flash express) มูลค่า 941 ล้านบาท , บริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด (J&T Express) มูลค่า 820 ล้านบาท , บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) มูลค่า 565 ล้านบาท และบริษัท ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (ประเทศไทย) (DHL) มูลค่า 512 ล้านบาท
3. จำหน่ายยานยนต์ใหม่ ทำรายได้รวม 1.29 ล้านล้านบาท กำไร 8,239 ล้านล้านบาท แม้ธุรกิจในกลุ่มนี้จะมีรายได้และกำไรจะลดลงจากปีก่อน แต่ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ที่สามารถทำกำไรได้สูงอยู่ นิติบุคคลที่มีรายได้โดดเด่น คือ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (อีซูซุ) มูลค่า 137,155 ล้านบาท, บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด (BMW) มูลค่า 44,102 ล้านบาท, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (เมอร์เซเดส-เบนซ์) มูลค่า 31,410 ล้านบาท, บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (ฟอร์ด) มูลค่า 28,759 ล้านบาท และบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) มูลค่า 24,834 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีกำไรสูงสุด คือ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (อีซูซุ) มูลค่า 3,065 ล้านบาท, บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (ฟอร์ด) มูลค่า 2,395 ล้านบาท, บริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (Tata) มูลค่า 2,115 ล้านบาท, บริษัท เอเอเอส ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด (นำเข้ารถปอร์เช่) มูลค่า 553 ล้านบาท และบริษัท วรจักร์ยนต์ จำกัด (Toyota) มูลค่า 548 ล้านบาท