พาณิชย์ เผย ทูน่ากระป๋องไทย 5 เดือนแรก ส่งออกพุ่ง 13% ขึ้นแท่นแชมป์ผู้ส่งออกอันดับ 1

67
0
Share:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (.. – ..) ไทยส่งออก ทูน่ากระป๋อง (พิกัดศุลกากร 160414) เป็นปริมาณ 221,092 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 978.56 ล้านเหรียญสหรัฐ (34,894.39 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 13.40 (ปี 2566 ไทยส่งออกทูน่ากระป๋อง 445,000 ตัน เป็นมูลค่า 2,087.30 ล้านเหรียญสหรัฐ (71,989.95 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 13.42 และ 9.34 ตามลำดับ)

นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการผลิตทูน่ากระป๋อง มีการนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยพบว่ามูลค่าการส่งออกอาหารสุนัขและแมว (พิกัดศุลกากร 230910) ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (.. – ..) มีปริมาณ 337,579 ตัน ขยายตัวร้อยละ 21.64 คิดเป็นมูลค่า 1071.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (38,245.60 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 37.60 ถือเป็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทูน่าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในห่วงโซ่คุณค่า

ตลาดส่งออกทูน่ากระป๋องที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ปี 2566 ได้แก่ (1) สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 482.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,091.11 ล้านบาท) (มีสัดส่วนร้อยละ 23.10 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทย) (2) ญี่ปุ่น 257.27 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,429.45 ล้านบาท) (สัดส่วนร้อยละ 12.33) (3) ออสเตรเลีย 172.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,107.07 ล้านบาท) (สัดส่วนร้อยละ 8.27) (4) ลิเบีย 150.37 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,959.30 ล้านบาท) (สัดส่วนร้อยละ 7.20) และ (5) ซาอุดีอาระเบีย 137.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,899.29 ล้านบาท) (สัดส่วนร้อยละ 6.61) ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมของโลก ผู้ส่งออกทูน่าหลักของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ไทย มีมูลค่าการส่งออก 2,087.30 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) เอกวาดอร์ 1,188.73 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) จีน 832.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (4) สเปน 792.49 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (5) เนเธอร์แลนด์ 313.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

ในส่วนของผู้นำเข้าหลักของโลก สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่งของโลก มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,181.80 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.48 ของการนำเข้ารวมของโลก ขณะที่อันดับ 2 – 5 อยู่ในตลาดยุโรป ได้แก่ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนี มีมูลค่าการนำเข้ารวม 2,822.20 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.20 ของการนำเข้ารวมของโลก และในตลาดนำเข้าหลักของโลกดังกล่าว ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 38.14 ส่วนในตลาดยุโรปที่เป็นตลาดศักยภาพขนาดใหญ่ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.59 สำหรับตลาดอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง และไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูง ได้แก่ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 57.13 และ 77.57 ตามลำดับ

ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยเติบโตมากขึ้นในปีนี้ มาจากราคาต้นทุนทูน่าที่ต่ำลง ประกอบกับการเติบโตของความต้องการอาหารฮาลาล และความเสี่ยงด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้มีการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง จึงทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตที่มีศักยภาพ มีเทคโนโลยีการผลิตที่ครบวงจรและได้มาตรฐานสากล สามารถพัฒนา ผลิตภัณฑให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ประกอบกับความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งในการรับซื้อปลาทูน่าจากทั่วโลก และการมีเครือข่ายครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต รวมทั้งช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดสำคัญ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะยกระดับการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทยมีความแข็งแกร่ง ไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อให้ไทยสามารถ ครองตำแหน่งผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลกต่อไป จะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพการผลิต ที่ถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานสากล การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ การดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน รวมทั้ง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อขยายสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ในการเดินหน้าประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเกษตรและอาหาร (Agriculture & Food Hub) ของโลกในอนาคตต่อไป