“พิชัย”มองศักยภาพไทยจีดีพีควรโตได้ 3.5 % ปีนี้หวังโตให้ได้ 3% มุ่งช่วยประชาชนแก้หนี้ เข้าถึงสินเชื่อ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Investment Forum 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุน..ยุคโลกเดือด หัวข้อเรื่อง Thailand Investment Opportunity ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตลดลงเป็นขันบันได ซึ่งในปี 2523 เป็นต้นไป จีดีพี ประเทศไทย เติบโตโชติช่วงชัชวาล ขยายตัวได้ถึง 7-9% ต่อปี และบางปีขยายตัวด้วยเลข 2 หลัก มีสะดุดช่วงต้มยำกุ้ง คือ ปี 2540 และจนมาถึงก่อนโควิดก็ลดลงมา โตเฉลี่ยเหลือเพียง 3% ส่วนช่วงโควิดเศรษฐกิจโตเฉลี่ย 0.4% และหลังจากฟื้นตัวจากโควิด ในปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.9% ส่วนไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ เติบโต 1.5% ขณะที่เพื่อนบ้านเศรษฐกิจขยายตัวได้ 5%

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ได้ประมาณการณ์ว่าในปี 2567 นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 2.4-2.5% แต่เรามองว่าหลังจากฟื้นไข้จากโควิด ศักยภาพของประเทศไทย ควรจะขยายตัวได้ 3.5% ฉะนั้น รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจปี 2567 นี้ไปใกล้แตะ 3% ให้ได้ และอยู่ในระดับ 3% ในปีถัดไป โดยไทยเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อการบริโภค แต่ขณะนี้การส่งออกไม่เหมือนเดิม ซึ่งระดับลดลงจากสัดส่วน 70% ของเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนภาคการผลิตก็ลดลงเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการส่งออกและบริโภคน้อย การผลิตจึงลดลงตามไปด้วย ขณะที่ประชาชนรายย่อยขณะนี้เผชิญกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูง อยู่ที่ 91% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) มูลค่าอยู่ที่ 19 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น เฉลี่ยได้ว่าโดยรวมประชาชนไทยมีหนี้รวมกว่า 17 ล้านล้านบาท เมื่อมีหนี้ แล้วใช้หนี้ ก็ไม่มีกำลังบริโภค

กำลังผลิตลดลงเริ่มมีปัญหา เกิดหนี้เสียของประชาชนจากสถาบันการเงินต่างๆ ภาครัฐก็เข้าไปช่วยเหลือ ส่งผลให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นสูงด้วย หากย้อนไป 8-9 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะอยู่ที่ 50%ต่อจีดีพี หรือ 5 ล้านล้านบาท ขณะที่ตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท และกำลังจะเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63%ต่อจีดีพี แต่รัฐบาลจะพยายามให้อยู่ในกรอบเพดานไม่เกิน 70%”นายพิชัย กล่าว

หากต้องการดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต้องหาเงินมาใช้หนี้ แต่เป็นเรื่องที่ยาก เพราะสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่อีกหนึ่งทางเลือก คือ การขยายให้เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเรามองว่าควรใช้ทางเลือกนี้ ทำให้เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น สู้กับชาวโลก และแข่งขันได้ แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาทางด้านโครงสร้าง ประชากรที่เข้าสู่สูงวัย ฉะนั้น ต้องมีการดูแลเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะต้องดูแลในระยะสั้น คือ การช่วยให้ประชาชนรายย่อย และเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งขณะนี้คนที่ไม่มีเงินประสบปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังสูงอยู่ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ดูแลลูกค้าแบ่งเป็น 2 ตลาดโดยชัดเจน ซึ่งลูกค้ารายกลางรายเล็กที่ไม่มีโอกาสเข้าตลาดทุน อีกทั้งยังได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ การใช้แบงก์รัฐ ซึ่งเร็วๆ จะดำเนินการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท เพื่อไปปล่อยต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 3.5% ส่วนที่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% เป็นต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles