นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง รวมถึง “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ด้วย โดยการทบทวนในครั้งนี้ มาจากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดเจรจาได้ข้อสรุปชัดเจน ส่งผลให้การค้าโลกหยุดชะงัก
รวมถึงกรณีที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดี้ส์” ออกมาเตือนเรื่องฐานะการคลังของไทย ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง โดยอยากเห็นการปรับแผนการใช้เงินงบประมาณ มุ่งเน้นไปที่การลงทุนมากขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกที่อาจมีปัญหาในอนาคต
โดยใน การปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ควรหันมาเน้นเรื่องการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมการจ้างงาน อาทิ การสร้างโรงไฟฟ้าไบโอก๊าซ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากการหมักวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น หญ้าเนเปียร์, ข้าวโพด ซึ่งจะช่วยรองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของธุรกิจ Data Center ที่จะเพิ่มขึ้น และเน้นกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น ตลอดจนปรับปรุงการผลิตของภาคเกษตร ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น จากปีนี้ที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มชะลอตัวลง
ขณะที่ในระยะสั้น รัฐบาลได้เตรียมแนวทางรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แล้ว ผ่านโครงการ Soft Loan ส่วนวงเงินคาดว่าจะไม่น้อยกว่าที่เคยดำเนินการในช่วงโควิด-19 โดยเม็ดเงินในส่วนนี้ จะเข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมาจาก ธปท. หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องในระบบของประเทศไทย ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก
ส่วนกรณีที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยมากขึ้นในช่วงนี้ว่า เป็นผลจากมาตรการในการจัดการการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ทำให้การลงทุนมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ส่วนกรณีการแข็งค่าของเงินบาทนั้น มองว่าเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องเข้าไปดูแล