ฟิสเกอร์ อิงค์ (Fisker Inc.) บริษัทผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีภายใต้ยี่ห้อฟิสเกอร์ที่ดูแลตลาดในอเมริกาเหนือ และเป็นบริษัทลูกในเครือฟิสเกอร์ กรุ๊ป อินคอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศล้มละลายตามมาตรา 11 และร้องขออำนาจศาลในรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา เพื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินทั้งหมด การประกาศล้มละลายของฟิสเกอร์ อิงค์ เกิดขึ้นหลังจากบริษัทแม่ ได้แก่ ฟิสเกอร์ กรุ๊ป อินคอร์ปอเรชั่น ประกาศล้มละลายไปเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนผ่านมา ซึ่งนับเป็นการล้มละลายครั้งที่ 2 ของบริษัทแม่อีกด้วย
ฟิสเกอร์ อิงค์ เปิดเผยข้อมูลต่อศาลว่า มีสินทรัพย์ตีมูลค่าราว 500 ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 18,500-37,000 ล้านบาท ขณะที่มีภาระหนี้สินและภาระรับผิดชอบอื่นๆ ราว 1,000 ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 37,000-370,000 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2024 ผ่านมา ฟิสเกอร์ กรุ๊ป อินคอร์ปอเรชั่น (Fisker) ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ซึ่งเป็นประเภทสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา ประกาศสถานะธุรกิจผลิตรถอีวีล้มละลาย และร้องขอต่อศาลในสหรัฐอเมริกาเพื่อพิทักษ์ทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก การเจรจากับนักลงทุนซึ่งเป็นค่ายผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกรายหนึ่งประสบความล้มเหลว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานะการเงินที่เป็นปัญหาหนักเกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการผลิตและทำตลาดรถอีวีประเภทเอสยูวีในชื่อรุ่น โอเชียน เอสยูวี ในตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรป
ฟิสเกอร์ กรุ๊ป อินคอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศล้มละลายต่อศาลในรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์ตีมูลค่าราว 500 ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 18,500-37,000 ล้านบาท ขณะที่มีภาระหนี้สินและภาระรับผิดชอบอื่นๆ ราว 100 ถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,700-18,500 ล้านบาท ท่ามกลางเจ้าหนี้ทุกระดับชั้น และทุกประเภทเจ้าหนี้ของบริษัทฟิสเกอร์มีจำนวน 200-999 ราย
นอกจากการยื่นล้มละลาย ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่ตั้งธุรกิจผลิตรถอีวีเป็นต้นมา ฟิสเกอร์ จะปลดพนักงานครั้งใหญ่มากถึง 15% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย ท่ามกลางการทำตลาดรถอีวีรุ่นโอเชียน เอสยูวี ที่ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีการผลิตรถรุ่นดังกล่าวมากกว่า 10,000 คันในปี 2023 ไม่เพียงเป็นยอดผลินที่น้อยกว่าเป้าหมายถึง 25% แต่ยังขายและจัดส่งได้เพียง 4,700 คันเท่านั้น
สาเหตุที่ส่งผลให้แบรนด์รถอีวีฟิสเกอร์ตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนนำไปสู่การล้มละลาย เป็นผลจากการเข้าถึงช่องทางเงินกู้ยืมที่จำกัด ต้นทุนการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงมากในหลายทศวรรษของสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายทางการตลาดและจัดจำหน่ายที่สูงต่อเนื่อง รวมถึงความนิยมในรถอีวีที่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในตลาดอเมริกาเหนือ
นอกจากนี้ แบรนด์รถอีวีฟิสเกอร์ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบในเรื่องคุณภาพและความปลิดภัยของรถอีวีที่ผลิตและขายในสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก สำนักงานความปลอดภัยการจราจรไฮเวย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NHTSA เปิดเผยว่า ได้ทำการสอบสวนรถอีวีประเภทเอสยูวีของฟิสเกอร์ในรุ่น โอเชียน เอสยูวี ที่ผลิตในปี 2023 หลังจากเกิดอุบัติเหตุถึง 3 ราย
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมผ่านไป เปิดเผยว่า ฟิสเกอร์ (Fisker) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาชื่อว่าเอฟทีไอ คอนซัลติ้ง และบริษัทกฎหมายชื่อว่าเดวิส พอล์ค เพื่อเตรียมแผนการปรับโครงสร้างการเงิน ภาระหนี้ และแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับเตรียมประกาศธุรกิจล้มละลาย
ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฟิสเกอร์ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงในธุรกิจผลิตรถอีวี นอกจากนี้ ดำเนินการปลดพนักงานจำนวนมาก และยกเลิกการลงทุนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถอีวีทั้งหมด จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามีพันธมิตรที่สนใจมาร่วมลงทุนการผลิตรถอีวี
ขณะที่ นิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีความเคลื่อนไหวในการเจรจากับฟิสเกอร์ เพื่อที่จะศึกษาและประเมินโอกาสในการร่วมผลิตรถกระบะไฟฟ้า หรือปิกอัพอีวีกับฟิสเกอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรถอีวีหลายรุ่นที่ฟิสเกอร์ผลิตอยู่