ภาคท่องเที่ยวโอดกำลังซื้อประชาชนลด ลูกค้าน้อยลงจากเศรษฐกิจในประเทศถดถอย บวกโลว์ซีซั่น

78
0
Share:
ภาค ท่องเที่ยว โอดกำลังซื้อประชาชนลด ลูกค้าน้อยลงจากเศรษฐกิจในประเทศถดถอย บวกโลว์ซีซั่น ต่างชาติลด

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนผ่านผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2 ปี 2567” จัดทำโดย สทท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ “ระดับ 79” (ค่าปกติคือ 100) ต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ระดับ 81 และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ดีกว่าไตรมาส 2/2566 ซึ่งอยู่ระดับ 72
จากคาดการณ์ของผู้ประกอบการไตรมาสที่ผ่านมา คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 จะดีกว่าไตรมาส 1/2567 เนื่องจากเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ภาครัฐจะได้รับอนุมัติและจะเบิกจ่ายถึงมือประชาชนได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มพลิกฟื้นและส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่คาดไว้! เม็ดเงินจากภาครัฐยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 2

ประกอบกับไตรมาส 2 เป็นช่วงโลว์ซีซัน เนื่องจากเป็นฤดูร้อนของประเทศไทย ปีนี้คนไทยทั่วทุกภูมิภาคต้องเจอกับ “สภาพอากาศสุดขั้ว” และภัยแล้งในเดือน เม.ย. ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2 ตกลงมาต่ำกว่าไตรมาส 1 และต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2 ได้รับแรงส่งจาก “เทศกาลมหาสงกรานต์” ที่จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ระดับ 75 สะท้อนการคาดการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจในไตรมาส 3 ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะแย่ลงกว่าไตรมาส 2 แต่ยังถือว่าดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 69 โดยไตรมาส 3 ถือเป็นช่วงโลว์ซีซัน มีวันหยุดและเทศกาลสำคัญน้อยกว่าไตรมาส 2 และเป็นเทศกาลที่ไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากนัก

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังมีปัญหา “กำลังซื้อภายในประเทศ” ที่หดตัว ประกอบกับการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ “คนไทยตกงาน” เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้ “หนี้ครัวเรือน” มีแนวโน้มการผิดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศที่อาจชะลอตัวลงได้อีกในระยะข้างหน้า

รายงาน สทท. ระบุเพิ่มเติม ถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท เกี่ยวกับแผนการเดินทางในไตรมาส 3/2567 โดยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ จำนวน 450 คนทั่วประเทศ กระจายตามเพศ ภูมิภาค อาชีพและช่วงรายได้ ผลการสำรวจพบว่า “ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัด” (ไม่รวมค่าเดินทาง) ในไตรมาส 2/2567 เป็นเงินประมาณ “2,683 บาท/คน/ทริป” ลดลงกว่าไตรมาส 1/2567 อย่างมาก! จากค่าใช้จ่ายประมาณ 6,856 บาท/คน/ทริป ส่วนการพักค้างคืนต่างจังหวัดในไตรมาส 2/2567 ค้างคืนเฉลี่ยคนละ 4.79 คืน/ไตรมาส มากกว่าไตรมาส 1/2567 ซึ่งอยู่ที่ 3.38 คืน/ไตรมาส ขณะที่คาดการณ์ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 4.55 คืน/ไตรมาส

ด้านไตรมาส 3/2567 คนไทยมีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด 57% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าไตรมาส 2/2567 (64%) และไตรมาส 1/2567 (74%) รองลงมา 33% ยังไม่ทราบว่าจะไปต่างจังหวัดหรือไม่ และอีก 10% คือไม่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด กว่า 76% ของประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดในไตรมาส 3/2567 ส่วนใหญ่เป็น “การเดินทางข้ามภูมิภาค” จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่เป็นภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยกว่า 75% ของคนที่วางแผนเดินทางจะเดินทางในเดือน ก.ค. รองลงมา 69% วางแผนเดินทางในเดือน ส.ค. และ 48% จะเดินทางในเดือน ก.ย.
เฉพาะวันหยุดยาว 4 วัน ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา ประชาชนมีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดและมีการพักค้างคืนมากกว่าวันหยุดและเทศกาลอื่นๆ โดย 25% เป็นการเดินทางข้ามภูมิภาค ส่วน 34% เลือกเที่ยวในจังหวัดตัวเอง และ 30% ไม่มีแผนการเดินทาง

ด้านตลาด “ไทยเที่ยวนอก” จากการสำรวจพบว่าคนไทยมีแผนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดในไตรมาส 1/2567 กว่า 23% เมื่อดูเฉพาะไตรมาส 3/2567 พบว่า 16% คนไทยมีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้ ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่แตกต่างจากไตรมาส 4/2566 และไตรมาส 2/2567 โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมคือ ญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน

สทท.ยังสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “สถานภาพทางการเงินและหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศ” พบว่า ประชาชน 58% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนโควิด และกว่า 80% มีภาระหนี้สิน โดยมีภาระหนี้เฉลี่ยประมาณ 33% ของรายได้ กว่า 36% มีรายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้บางเดือน แต่ยังสามารถชำระได้ ขณะที่ 3% มีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่ได้แล้ว เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับค่าใช้จ่าย พบว่าประชาชนกว่า 54% มีเงินเหลือเก็บเล็กน้อย โดยกว่า 38% มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ส่วน 6% มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีเพียง 2% เท่านั้นที่มีเงินเหลือเก็บจำนวนมาก

ด้านพฤติกรรม “การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว” พบว่า 49% ลดความถี่ในการท่องเที่ยวให้น้อยลง แต่การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเหมือนเดิม ส่วน 25% ไม่แตกต่างไปจากเดิม ขณะที่ 19% ความถี่ในการท่องเที่ยวเหมือนเดิมแต่ลดค่าใช้จ่ายลง และอีก 4% งดกิจกรรมการท่องเที่ยว