ภาษีสหรัฐสูง 36% เก็บประเทศไทย สะเทือนอนาคต 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ลามถึงชีวิตลูกจ้าง 20 ล้านคน กระทบแรงกับ 20% ในอุตสาหกรรมผลิตและบริการของไทย

ภาษีสหรัฐ สูง 36% เก็บประเทศไทย สะเทือนอนาคต 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ลามถึงชีวิตลูกจ้าง 20 ล้านคน กระทบแรงกับ 20% ในอุตสาหกรรมผลิตและบริการของไทย

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ตอนที่ทีมไทยแลนด์ก่อนบินไปเจรจากับทรัมป์บอกว่า ต้องการผลแบบ Win-Win ก็สังหรณ์ใจแล้วว่าการเจรจาจบคงไม่สวย นอกจากนี้ อัตราภาษีที่ไทยถูกเก็บร้อยละ 36 ยังถูกทรัมป์ขู่ว่าหากไทยขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราใดก็จะจัดเก็บภาษีเพิ่มเข้าไปอีกในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่ยังให้ความหวังว่าอัตราภาษีดังกล่าวสามารถลดได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข แต่ต้องจบก่อนเส้นตาย (1 สิงหาคม 2568)

ไทยเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกมีสัดส่วนในจีดีพีในประมาณร้อยละ 57 ตลาดสหรัฐฯ และเป็นตลาดส่งออกสัดส่วนอันดับหนึ่งในปี 67 มีสัดส่วนร้อยละ 18.30 อัตราการขยายตัวร้อยละ 13.66 ในช่วง 5 เดือนแรกปี 68 สัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 19.61 อัตราการขยายตัวกระโดดไปถึงร้อยละ 27.2 มูลค่า 27,098.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่แล้ว 5,795.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากการเร่งส่งออกให้ทันดีเดย์ ซึ่งขยายเวลา 90 วันจะจัดเก็บอัตราภาษีใหม่ ซึ่งผู้นำเข้าสหรัฐฯ คาดการณ์ไม่ได้ จึงเร่งการนำเข้า อัตราภาษีร้อยละ 36 ที่ไทยถูกเรียกเก็บเกินความคาดหมาย และเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด เพราะคิดว่าอย่างเก่งอาจต่อรองได้เหลือร้อยละ 20 – 25

ภาคการส่งออกและโซ่อุปทานของไทยเกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน โดยมีการประมาณการเบื้องต้นว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 18 – 20 ล้านคน หากอัตราภาษีนำเข้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยถูกเรียกเก็บสูงกว่าประเทศคู่แข่งสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย จะมีผลอย่างมากต่อการลดลง ทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า

ผลที่ตามมาคือ การลดกำลังการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อแรงงานส่วนเกินทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจต้องสูญเสียตำแหน่งงาน หรืออาชีพ ผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าแรงงานเหล่านั้น ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนเท่าใดยิ่ง สัดส่วนมากผลกระทบก็ยิ่งสูง ตัวอย่างภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ เช่น 1.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.ผลิตภัณฑ์ยาง 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 5.เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบอื่น ๆ 6.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 7.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 8.อุปกรณ์กึ่งตัวนำ-ทรานซิสเตอร์ 9.เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก 10.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 11.อาหารสัตว์ และ 12. อาหารทะเล/ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะมีการปรับพอร์ตแหล่งนำเข้าใหม่ ซึ่งคาดว่าคำสั่งซื้อจะเริ่มลดลงในช่วงเดือนกันยายน อุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างน้อย 1 ใน 5 จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การผลิตที่ลดลงมีผลต่อการใช้แรงงานลดลงแต่จำนวนเท่าใดในขณะนี้ยังประเมินไม่ได้

ภาคแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออกและโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ เป็นทั้งผู้ผลิต ขณะเดียวกันเป็นผู้บริโภค ครัวเรือนแรงงาน จึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดของประเทศ ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่จะลดลงกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการซื้อสินค้าประเภทถาวร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยานพาหนะหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles