มหาวิทยาลัยนอกระบบหรือมหาวิทยาลัยของรัฐ กลับกลายเป็นไม่มั่นคงในอาชีพ อาจารย์ถูกเลิกสัญญาจ้างได้ตลอดเวลา

มหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ กลับกลายเป็นไม่มั่นคงในอาชีพ อาจารย์ ถูกเลิกสัญญาจ้างได้ตลอดเวลา

ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานะของอาจารย์มหาวิทยาลัยภายหลังยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือออกนอกระบบ มีดังนี้

อนาถใจกับอนาคตอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับเหมือนต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร โดยมีหลักการใหญ่ 2 ด้านคือ

  1. บริหารงบประมาณแบบเป็นก้อนเลย (แต่เดิมบริหารงบประมาณแบบเป็นหมวดๆ) ซึ่งฟังดูดี แต่จะดีเฉพาะผู้บริหารเท่านั้น รวมทั้งลืมคิดไปว่า มหาวิทยาลัยยังมีเงินงบประมาณรายได้ที่มีอิสระในการบริหารและจำนวนเงินมากกว่าเงินงบประมาณแผ่นดินเสียอีก เช่น มหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งเคยชี้แจงในกรรมาธิการงบประมาณว่า ได้งบประมาณแผ่นดินแค่ 5,000 ล้านบาท แต่มีงบประมาณเงินรายได้อีก 10,000 ล้านบาท
  2. เพิ่มเงินเดือนอาจารย์ให้มากขึ้น 1.7 เท่า โดยเป็นเงินเดือน 1.5 เท่าของอัตราราชการ และอีก 0.2 เท่าเป็นสวัสดิการ ฟังดูดีมากๆ จนเคลิ้มกันไปหลายสิบปี จึงตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า รักคือฝันไป เพราะสิ่งที่หายไปคือ “ความมั่นคงในอาชีพ“ และ”จิตวิญญาณของความเป็นครู“…เพราะทุกคนต้องเป็นพนักงาน ไม่ใช่ข้าราชการอีกต่อไป

ผมขอกล่าวเฉพาะประเด็นหลังครับว่า เป็นแนวคิดที่ผิดปกติมากๆ เพราะอย่าลืมว่า หลายอาชีพที่ต้องใช้หัวกะทิของประเทศ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น ประเทศควรสร้างความมั่นคงและส่งเสริมให้เขาทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันนี้

  1. “ทำงานอย่างไร้ความมั่นคง” เพราะมหาวิทยาลัยสามารถยกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้ ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องทำงานทุกอย่างทั้งเสมียน แม่บ้าน สอนนักศึกษา ทำวิจัย บริการวิชาการ เต้นหมอลำ ทำเอกสารประเมินหลักสูตร หรือทำเอกสารเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น…จนปัจจุบันจะเห็นว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยมีลูกน้อยลง (สังเกตจากจำนวนลูกของอาจารย์ที่เข้าโรงเรียนสาธิต)
  2. ”ทำงานที่ไร้อนาคต“ เพราะเกษียณอายุ 60 ปีแล้ว จะไม่ได้รับบำนาญ หรือ ไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล ..เป็นเรื่องที่น่าอนาถใจมาก
  3. ”ทำงานที่ไร้ความเท่าเทียม“ เพราะ ถ้าเป็นข้าราชการ นอกจากจะได้บำนาญ สิทธิรักษาพยาบาลพ่อแม่ลูก สิทธิเบิกค่าเล่าเรียน ฯลฯแล้ว ยังได้ค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง 2 เท่า ขณะที่พนักงานจะได้เพียง 1 เท่า ดังนั้น ผลรวมของรายได้จึงไม่แตกต่างกันมาก ..แต่สิทธิประโยชน์ต่างกันราวสวรรค์กับนรก !
  4. ”ทำงานอย่างไร้จิตวิญญาณ“ เพราะ ไม่สามารถส่งเสียงเพื่อแสดงความเห็นทางวิชาการแก่สังคมได้(ในทางกฎหมายทำได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครกล้า เพราะอาจส่งผลต่อการต่อสัญญา) รวมทั้งการสอนก็จะใช้มาตรฐานแบบเมื่อ20 ปีก่อนไม่ได้ เพราะต้องสอนให้เด็กจบด้วยปริมาณ..ย้ำ.ปริมาณ!… เพราะค่าเทอมนักศึกษาคือแหล่งรายได้หลักของมหาวิทยาลัย

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ที่ทุกคนมองว่าภูเขาน้ำแข็งนั้นสวยงามเหลือเกิน ขอเรียนว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างประเทศนั้น เป็นพนักงานเหมือนกัน แต่เขาได้รับบำนาญและได้สิทธิรักษาพยาบาล จนตายครับ ดังนั้น จะเห็นว่าทุกพรรคที่เคยเป็น รมต อว. ล้วนพบกับความล่มสลายไปทั้งสิ้น เพราะเข้ามาบริหารกระทรวง แต่ไม่สนใจบุคคลากรเลย ผมหวังว่า รัฐมนตรี อว ท่านปัจจุบัน จะช่วยหาวิธีที่จะช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านจำนวนเป็นแสนคนนี้ด้วยนะครับ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles