นายอาเพอร์วา ซังกี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวว่าประเทศมาเลเซียจะมีสถานะประเทศปรับขึ้นจากประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ระดับสูงในปัจจุบันนี้ขึ้นเป็นสถานะประเทศรายได้สูงภายในปี 2028 หรือภายในอีก 4 ปีเป็นอย่างเร็วที่สุด สาเหตุจากเศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ส่งผลให้ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 2024 นี้ขึ้นแตะที่ระดับ 4.9% ซึ่งปรับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 0.6% จากเป้าหมายเดิมที่ระดับ 4.3%
ที่สำคัญ ธนาคารโลก เปิดเผยต่อไปว่า หากไม่นับรวมตัวเลขจีดีพีของมาเลเซียในปี 2022 ซึ่งขยายตัวอย่างก้าวกระโดดหลังวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 แล้ว ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีปี 2024 นี้ที่ 4.9% จะกลายเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เนื่องจาก มีอัตราการเติบโตสูงมากถึง 12% นับจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 และทำให้มาเลเซียมีอัตราการเติบโตแซงหน้าทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เกือบทั้งหมด แต่ยกเว้นประเทศสิงคโปร์เพียงชาติเดียว
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวต่อไปว่า อัตราการขยายตัว หรือจีดีพีของมาเลเซียที่สูงขึ้น ทำให้มาตรฐานการครองชีพในประเทศมาเลเซียย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ด้านค่าเงินริงกิตได้ปรับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานะการเป็นประเทศรายได้สูงของมาเลเซียอยู่ไม่ห่างไกลแล้ว
ธนาคารโลก เปิดเผยกฎเกณฑ์สถานะประเทศรายได้สูงว่า ประเทศที่ปรับขึ้นสถานะรายได้สูงจะต้องมีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวประชากร หรือ (GNI per Capita ไม่ต่ำกว่า 14,005 ดอลลาร์ หรือราว 476,170 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ ประเทศมาเลเซียมีรัฐที่รายได้ตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว หรือ GNI ทั้งหมด 5 รัฐ ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง สลังงอร์ ซาราวัก และลาบวน
ทั้งนี้ ในกลุ่มอาเซียนนั้น สิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนทีเป็นประเทศรายได้สูง ประเทศมาเลเซียกำลังจะเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนที่จะเปลี่ยนสถานะขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง สำหรับประเทศไทยนั้น อยู่ในสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 13 ปี