มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่ามีความเห็นปรับลดมุมมองสภาพเศรษฐกิจไทยมาเป็นด้านลบ หรือ Negative จากเดิมเดิมที่มีมุมมองในระดับมีเสถียรภาพ หรือ Stable สาเหตุจากความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นด้านเศรษฐกิจ และภาวะการคลังของประเทศไทยอ่อนแอลง ที่สำคัญ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในปี 2568 ลง -0.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.9% มาเหลือที่ 2%
นอกจากนี้ การปรับลดตัวเลขประมาณการจีดีพีไทยในครั้งนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกปรับลดลงได้อีก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงเปลี่ยนแปลงและมีความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในแง่อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ยังคงไว้ที่ Baa1 เหมือนเดิม
มูดี้ส์ เปิดเผยว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจเปิดด้วย ความไม่แน่นอนมีสูงมากว่าสหรัฐจะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับไทยและประเทศอื่นๆ หรือไม่ หลังจากระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันสิ้นสุดลง
ภาวะไม่แน่นอนดังกล่าว จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหลังการระบาดใหญ่ของโควิด เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้แนวโน้มการเติบโตของประเทศลดลง และแรงกดดันด้านลบดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลอ่อนแอลงอีก หลังจากที่แย่ลงอยู่แล้วนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
สำหรับการเติบโตในระยะสั้นของไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมากจากความเสี่ยงด้านการส่งออกไปยังสหรัฐ ข้อมูลล่าสุดจาก OECD ระบุว่า มูลค่าเพิ่มภายในประเทศของไทยในการส่งออกรวมไปยังสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของจีดีพีในปี 2020
ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่มูลค่าและการผลิตในภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ขณะที่แรงกดดันการเติบโตของไทยจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากการส่งออกส่วนเกินของจีน ถูกเบนเข็มมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในประเทศ
การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐจะทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ส่งผลให้การลงทุนในหลายประเทศรวมถึงไทยได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2561-2562 หรือในยุคสมัยแรกของรัฐบาลทรัมป์ ได้ฉุดให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของไทยในปี 2562 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2561 ดังนั้น ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์จีน+1 (China Plus One) หรือชะลอการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ซึ่งจะทำให้การลงทุนในไทยอ่อนแอลงไปด้วย
นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย ยังเพิ่มความเสี่ยงด้านลบต่อการเติบโตของไทย ความกังวลด้านความปลอดภัยนี้อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่ชะลอตัวลงอยู่แล้วจากกรณีข่าวดารานักแสดงชาวจีนก่อนหน้านี้
ดังนั้น ภายใต้ปัจจัยเหล่านี้ การเติบโตในระยะสั้นของไทยที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจจะยิ่งทำให้ความท้าทายเชิงโครงสร้างของไทยที่มีอยู่แล้วเลวร้ายลง และฉุดให้การเติบโตตามศักยภาพของไทยลดลงต่อไป