สถาบันยุทธศาสตร์การค้า ม.หอการค้าไทย ได้จัดทำผลการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทย” (FBI) เป็นครั้งแรกในเดือนม.ค.68 ซึ่งเป็นความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 327 ตัวอย่าง ที่มาจากหอการค้าจังหวัด คิดเป็น 65.7% และสมาคมการค้า อีก 34.3% ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่ดำเนินธุรกิจด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า ทั้งชายแดน/ผ่านแดน
โดยดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและผ่านแดนนี้ จะประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในระยะสั้น (เดือนที่สำรวจ), ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในระยะกลาง (6 เดือน) และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในระยะยาว (1 ปี) เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการส่งออก-นำเข้าสินค้า ในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะมีค่าสูงสุด เท่ากับ 100 และมีค่าต่ำสุด เท่ากับ 0
ทั้งนี้ หากดัชนี FBI มีค่ามากกว่า 50 หมายถึงสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดน มีแนวโน้มขยายตัว, ดัชนี FBI มีค่าเท่ากับหรือใกล้เคียง 50 หมายถึง สถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดน มีแนวโน้มทรงตัว และหากดัชนี FBI มีค่าต่ำกว่า 50 หมายถึง สถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดน มีแนวโน้มแย่ลง
สำหรับผลการสำรวจดัชนี FBI เดือนม.ค.68 พบว่า ในระยะสั้น (เดือนม.ค.68) เท่ากับ 49.5, ระยะกลาง (6 เดือน) เท่ากับ 52.8 และระยะยาว (1 ปี) เท่ากับ 63.6
นายธนวรรธน พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ในระยะสั้น ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์การส่งออกยังไม่นิ่ง เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับยังรอติดตามนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีความไม่มั่นใจนัก ดัชนี FBI จึงยังต่ำกว่าระดับ 50
ส่วนในระยะกลาง ซึ่งดัชนี FBI เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.8 นั้น ผู้ประกอบการเชื่อว่าสถานการณ์การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนระยะยาว ซึ่งดัชนี FBI อยู่ที่ 63.6 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงว่าแนวโน้มการส่งออกและการนำเข้าตามชายแดนมีสัญญาณที่ดี และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้
สำหรับปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ต่อการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในปี 2568 มีดังนี้
ปัจจัยบวก
1. ความต้องการสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น สินค้าไทยมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งมีความน่าเชื่อถือในด้านมาตรฐานความปลอดภัย
2. ศักยภาพของด่านการค้าชายแดนที่มีการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะด่านแม่สอด รวมถึงมีการเร่งรัดปักปันด่านห้วยต้นนุ่น
3. การพัฒนาและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนไปสู่จุดผ่อนปรน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าบริเวณชายแดน
4. การผลักดันความร่วมมือไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน
5. เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีอัตราการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ
1. สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และการปิดถนนทางหลวงเอเชียสาย 1 (AH1) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่ง ซึ่งประสบกับข้อจำกัด และต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น
2. การเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีน ได้สร้างแรงกดดันต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาสินค้า
3. อุปสรรคทางด้านพิธีการศุลกากร การขอใบอนุญาตนำเข้าที่มีความล่าช้า และความเข้มงวดในการควบคุมชายแดน
4. การค้าสัตว์หรือพืชที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ นำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคในพืชหรือสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นต้น
5. ปัญหาความไม่เสถียรภาพของค่าเงิน การอ่อนค่าลงของสกุลเงินในประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 38.5% ระบุว่าไม่ใช้เลย ส่วนอีก 30.7% ระบุว่า ใช้น้อย เนื่องจากปัญหาทางการค้าในบางประเทศคู่ค้า ที่มีข้อจำกัดเรื่องเอกสาร form D และระบบ FTA ที่ยังรองรับไม่เต็มที่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางส่วน ยังไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขของการใช้ FTA
สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่
1. การยกระดับด่าน “ห้วยต้นนุ่น” ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร รวมถึงเร่งรัดยกระดับจุดผ่อนปรนห้วยผึ้ง อ.เมือง และแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไปสู่จุดผ่อนปรนพิเศษ
2. การส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเมียนมา โดยผลักดันให้เมียนมาออกใบอนุญาตนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย และหารือกับทางการเมียนมาในการเปิดถนนสายอาเซียน AH1 ให้สามารถเดินทางส่งออกและนำเข้าได้อย่างปกติ และปลอดภัย
3. การพัฒนาระบบและลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร โดยลดขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำเอกสารนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงระบบศุลกากร
4. การสนับสนุนผู้ประกอบการในการส่งเสริมการจับคู่เจรจาธุรกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน ดอกเบี้ยต่ำ
ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า ในปี 2568 มูลค่าการส่งออกชายแดน/ผ่านแดน จะอยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.2% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าชายแดน/ผ่านแดน อยู่ที่ 8.59 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.6% ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้
1. GDP โลกปี 68 ขยายตัว 2.7-3.2%
2. ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล
3. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 34-35 บาท/ดอลลาร์
4. อัตราเงินเฟ้อของไทย อยู่ที่ 0.5-1.0%
5. อัตราเงินเฟ้อของโลก เฉลี่ยที่ 2.0-4.5%
6. การค้าโลก ขยายตัว 2.5-3.0%
7. สหรัฐฯ ยังไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าในปี 68
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย และสภาหอการค้าฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการทำการค้าในตลาดประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการค้าผ่านแดนกับประเทศเวียดนาม และการค้าข้ามแดนกับจีนตอนใต้ โดยได้มีการติดตามข้อมูลกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนของไทยได้เตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบด้านการค้าต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ ตลอดจนเพื่อเป็นแนวทางให้ภาครัฐ ช่วยเจรจาอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการทำการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน เพื่อให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในภาพรวมเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีการตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันการค้าชายแดนและผ่านแดนให้มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 ซึ่งการจะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จะต้องมีการประเมินแนวโน้มสถานการณ์การค้าไว้ล่วงหน้า เพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ในเชิงนโยบายให้กับรัฐบาล และเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของหอการค้าไทย ที่จะได้นำข้อมูลมาใช้วางแผนและกำหนดกลยุทธ์การส่งออกร่วมกับรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
การจัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทย” (Foreign Border Trade Sentiment Index : FBI) ที่มาจากการสำรวจความคิดเห็นของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนสมาคมการค้าต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค จะถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกำหนดกลยุทธ์ และวางแผนงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2570 ได้