นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/67 จะเห็นภาพบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว การส่งออกที่เป็นบวก และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ค่อนข้างดี ดังนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้ จะเติบโตได้ 1.5-2.0% ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/67 คาดโต 1.8-2.3% ย่อลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.0-2.5% เนื่องจากมีการสำรวจความเห็นของภาคเอกชน พบว่ายอดขายยังนิ่ง และซึมตัว
ดังนั้น แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน เนื่องจากไทยไม่ได้ใช้งบประมาณเป็นปกติมาตั้งแต่เม.ย. 66 ถึงปัจจุบัน ซึ่งงบลงทุนปกติจะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น เศรษฐกิจไทยขาดแรงขับเคลื่อนตั้งแต่ไตรมาส 1/67 จนถึงเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งกว่าที่งบประมาณ จะผ่านและขับเคลื่อนได้ ใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน ทำให้ระหว่างนี้ จะมีเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอาการซึม ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และเคลื่อนเม็ดเงินได้ในช่วงมิ.ย. เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3-4/67
อย่างไรก็ตามรัฐต้องเร่งรัดการลงทุนอย่างเร่งด่วนในไตรมาส 3-4/67 เพราะท่าทีของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะเกิดขึ้นช่วงก.ย. หรือปลายของงบประมาณปี 67 และจะใช้งบประมาณปี 68 เป็นตัวตั้ง จึงคาดว่ารัฐบาลจะใช้เงินดิจิทัลช่วงปลายไตรมาส 3/67 และต้นไตรมาส 4/67 จำนวน 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี อาจทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักขึ้น บวกได้อีกประมาณ 0.3-0.5% ของ GDP และคาดว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปี 67 จะเติบโตได้ประมาณ 1.8-2.0% ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 3-4/67 โดยการนำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มาเสริมเพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยให้ได้ประมาณ 3.0-3.5% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียง 2.7% ตามเป้าหมายที่หลายฝ่ายอยากเห็น
แต่ยังต้องดูสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดกังวลว่าเฟดจะไม่ลดดอกเบี้ย เพราะสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สัญญาณการจ้างงานยังดีขึ้นเรื่อยๆ อัตราการว่างงานลดลง ตลาดจึงกังวลว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.จริงหรือไม่ และจะลดทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้จริงหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางดอกเบี้ยไทย และมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จุดสำคัญขณะนี้ คือเงินเฟ้อของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่รัฐบาลเข้าไปดูแล ทั้งดีเซล และไฟฟ้า ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ และผัก–ผลไม้ ยังมีราคาย่อลง แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ เป็นสัญญาณเงินฝืดทางเทคนิค
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะลดลงหรือไม่ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สัปดาห์หน้านั้น กนง. เคยมองมุมว่า ถ้าตัดเรื่องราคาพลังงานออก เงินเฟ้อทั่วไปยังใกล้เคียง 1% อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% และกนง. ยังมีแนวทางมาโดยตลอดว่า สัญญาณของเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้นจากการที่นโยบายการคลังจะมีการใช้จ่ายเงินปกติ และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าปีนี้ขยายตัว 2.7% จากปีก่อน 1.9% ดังนั้น มองว่ายังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.80 บาท/ดอลลาร์ ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหลุด 37.00 บาท/ดอลลาร์ได้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยจะห่างกันมากขึ้น
พร้อมมองว่า ถ้า กนง.ลดดอกเบี้ยในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งมีผลให้เงินบาทอ่อน ก็จะเป็นแรงกดดันให้กองทุนน้ำมันมีหนี้เพิ่มมากขึ้น เกิดแรงกดดันต่อราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งหากเงินบาทอ่อนค่ามาก จะยิ่งส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นเชื่อว่า กนง. อาจเริ่มลดดอกเบี้ยหลังจากที่ประเทศอื่นๆ ทยอยลดไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากการลดดอกเบี้ยของเฟด เพื่อเป็นการปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดอกเบี้ยโลก และปรับให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ หลังจากที่ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อปี 67 จะอยู่ที่ 0-1% โดยการคาดการณ์นี้ เป็นการมองว่าราคาพลังงานจะสูงขึ้น และเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2-3/67 จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น
การกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงจำเป็นที่ภาครัฐอาจต้องใช้มาตรการทางการคลัง ในการกระตุ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่คาดว่าจะใช้ 500,000 ล้านบาท ช่วงปลายไตรมาส 3/67 ขณะเดียวกัน การที่คาดหวังว่าจะให้ธปท. ลดดอกเบี้ยยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนยังไม่มีความจำเป็นที่จะลดดอกเบี้ยเพราะดอกเบี้ยไทยยังต่ำสุดในอาเซียนดังนั้นนโยบายการคลังยังจำเป็น