ยอดขายรถปี 68 ดิ่ง เหลือ 5.3 แสนคัน จากเศรษฐกิจชะลอฉุด สารพัดปัจจัยลบ มาตรการ “กระบะพี่มีคลังค้ำ” กระตุ้นไม่เต็มที่

ยอด ขาย รถปี 68 ดิ่ง เหลือ 5.3 แสนคัน จากเศรษฐกิจชะลอฉุด สารพัดปัจจัยลบ มาตรการ"กระบะพี่มีคลังค้ำ" กระตุ้นไม่เต็มที่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 68 ยังเป็นอีกปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศ จากปัจจัยรายล้อม ได้แก่ ปัญหาหนี้เสียที่สูง และกำลังซื้อที่อ่อนแอต่อเนื่องจากปีที่แล้ว, ปัญหาแผ่นดินไหวที่กระทบต่อรายได้ในภาคการท่องเที่ยว และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยของสหรัฐฯ สูงถึง 36% กระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งทำให้ปัญหาความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ยังดำเนินต่อ แม้จะมีมาตรการรัฐ เช่น “กระบะพี่มีคลังค้ำ” ออกมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายกระบะได้แต่ไม่เต็มที่ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานหลักยังอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดรถยนต์จะหดตัว แต่กลุ่มรถยนต์ xEV ที่ใช้พลังงานทางเลือกยังคงเติบโต ตามทิศทางความต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของผู้บริโภค นำโดยรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ BEV และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันยังทำตลาดในกลุ่มรถยนต์นั่งเป็นหลัก

โดยทิศทางดังกล่าว ทำให้ปี 68 รถยนต์นั่งกลุ่ม xEV คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 55% ของยอดขายรถยนต์นั่งรวม ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์กลุ่ม xEV คาดว่าจะยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากเพียง 1% ของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์รวม

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามสัญชาติของค่ายรถยนต์ จะเห็นว่าค่ายรถญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำตลาดของไทยในปัจจุบัน เลือกทำตลาดรถยนต์ xEV ในกลุ่มรถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก ส่วนค่ายรถยนต์จีน เน้นขายรถยนต์ BEV และเริ่มสร้างตลาดรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดมากขึ้นในปีนี้ ขณะที่ค่ายรถยนต์ตะวันตก เน้นทำตลาดรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากงาน Motor Show 2025 พบว่า ค่ายรถยนต์จีนกำลังเร่งขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไทยอย่างรวดเร็ว โดยยอดจองรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งล่าสุด พบจีนขยับขึ้นมามีส่วนแบ่งเกินครึ่งเป็นครั้งแรก ซึ่งเมื่อผนวกกับการเติบโตในอัตราเร่งของตลาดรถยนต์ xEV ในไทยดังกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ทำให้ค่ายรถยนต์จีน มีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไทยขึ้นสู่ระดับ 19% เนื่องจากจีนเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ BEV ในไทย และอนาคตอันใกล้ คาดว่าจะขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดด้วย

ในระยะถัดไป ประเด็นที่ควรต้องติดตาม ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางตลาดรถยนต์หากเกิดขึ้น เช่น การเจรจาของภาครัฐระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาลดภาษีนำเข้า ซึ่งจะช่วยอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก มาตรการกระตุ้นการลงทุน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจเพิ่ม รวมถึงมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์เพิ่มเติมอย่าง โครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” เป็นต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles